คตช.สั่งเตรียมข้อมูลชี้แจง กรณีองค์กรต่อต้านฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (เอพีจี) กำลังประเมินไทย

1764

business highlight online : ที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) รายงานผลงานเพียบ อบรมครูหลักสูตร “โตไปไม่โกง” ไปแล้วกว่า 7,000 คน เตรียมจัดฝึกอบรมหลักสูตร “ท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส” (Local Integrity and Transparency) นำข้าราชการท้องถิ่นมาอบรม ส่วนกรณีสินบนข้ามชาติโรลส์-รอยซ์ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานเพื่อป้องกันปัญหาสินบนข้ามชาติ เพื่อออกมาตรการป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก ขณะที่กรณีองค์กรการต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (เอพีจี) กำลังประเมินประเทศไทยเกี่ยวกับการฟอกเงิน ที่ประชุมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลไว้ชี้แจง นอกจากนี้ ที่ประชุมรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามคำสั่งมาตรา 44 รวม 8 คำสั่ง เพื่อตรวจสอบข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต 353 คน โดยได้ข้อยุติคือมีข้าราชการที่ถูกให้ออกจากราชการในกรณีต่างๆ 127 คน และประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ ต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ

วันนี้ (15 มีนาคม 2560) เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 1/2560 โดยมี  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

ภายหลังการประชุม นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คตช. ได้แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมรับทราบตามที่คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติในด้านต่างๆ ได้นำเสนอรายงานและข้อเสนอแนะ ดังนี้ -คณะอนุกรรมการฯด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ได้รายงานการเตรียมการจัดการฝึกอบรมหลักสูตร “ท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส” (Local Integrity and Transparency) ที่จะมีการนำข้าราชการท้องถิ่นมาอบรมเพื่อสร้างองค์ความรู้นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมที่ดีงาม วัฒนธรรมแห่งความโปร่งใส สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 และมีการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติเป็นแนวทางในการสร้างสุจริตและป้องกัน โดยกำหนดให้มีเครื่องมือสำคัญ เช่น ในเรื่องการปลูกจิตสำนึก การสร้างเครือข่ายให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันขับเคลื่อนดำเนินการ รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลภายใต้หลักคิดว่าถ้ามีข้อมูลชัดเจน และมีการเปิดเผยข้อมูล ก็จะทำให้การทุจริตทำได้ยากยิ่งขึ้น  พร้อมกับจะมีการอบรมครูหลักสูตร “โตไปไม่โกง” ประจำปี 2560 ให้แก่ครูในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3 รุ่น รวม 600 คน ซึ่งจะไปเสริมในโครงการท้องถิ่นโปร่งใสด้วย โดยถึงขณะนี้คณะอนุกรรมการฯด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ดำเนินการอบรมครูหลักสูตร “โตไปไม่โกง” ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 7,000 คน สำหรับการขับเคลื่อนนโยบาย “โตไปไม่โกง” นี้ รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานคณะอนุกรรมการฯด้านการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ ได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้ “โตไปไม่โกง” เป็นนโยบายของกระทรวง และจะสนับสนุนให้ครูเข้ารับการอบรม โดยให้การจัดการเรียนรู้ “โตไปไม่โกง” เป็นผลการปฏิบัติงานของโรงเรียนและครู พร้อมกับส่งเสริมการจัดการความรู้ “โตไปไม่โกง” ในกลุ่มครู

ด้านคณะอนุกรรมการฯด้านการป้องกันการทุจริต ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า จากการประชุม คตช. ครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปหาแนวทางดำเนินการแก้ไขกรณีนมโรงเรียนมีปัญหาเน่าเสีย ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าโดยกระทรวงเกษตรฯได้เสนอรายงานมาว่า ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการมาตรการที่ชัดเจน มอบหมายให้ผู้ประกอบการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และส่วนท้องถิ่น เข้ามาร่วมกันกำกับดูแล ตรวจสอบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คอยกำกับติดตามการดำเนินงานดังกล่าว และให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) กระทรวงเกษตรฯ ได้ติดตามและกลับมารายงานในที่ประชุม คตช. ครั้งต่อไป

พร้อมกันนี้ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้รายงานต่อที่ประชุมในเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย 1) มาตรการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ 2) การบูรณาการเพื่อการป้องกันปัญหาสินบนข้ามชาติ 3) มาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินงานเรื่องเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล 4) กลไกการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลและการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 5) การดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตตามโครงการรับจำนำข้าว โดยในเรื่องการบูรณาการเพื่อการป้องกันปัญหาสินบนข้ามชาติ ศอตช. ได้รายงานความคืบหน้ากรณีสินบนข้ามชาติโรลส์-รอยซ์ ว่า ในส่วนของการป้องกันปัญหาสินบนข้ามชาติ ศอตช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานเพื่อป้องกันปัญหาสินบนข้ามชาติ เพื่อศึกษาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อออกมาตรการป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก และเพื่อศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  เนื่องจากขณะนี้มีองค์กรการต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (เอพีจี) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระกำลังประเมินประเทศไทยเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งที่ประชุมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินทั้งหมด ให้ข้อมูลตอบคำถามกับหน่วยงานดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการประเมิน สำหรับในส่วนของการปราบปราม ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยมีประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ ยืนยันว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะทำงานอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมมือกับ ศอตช. และ ป.ป.ท. ตรวจสอบโครงการตามแนวทางของรัฐบาลที่กระจายลงสู่ท้องถิ่น หลังมีการร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้ตรวจสอบการทุจริตอย่างเด็ดขาด  ไม่ต้องการให้โครงการเหล่านี้หยุดชะงัก เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และขอให้ ศอตช. กระทรวงมหาดไทย และประชารัฐในพื้นที่ทำงานร่วมกัน สร้างความรับรู้และความเข้าใจ รวมทั้งดำเนินการป้องกันร่วมกัน และมีชุดปฏิบัติการในพื้นที่ออกตรวจเฝ้าระวังร่วมกัน

สำหรับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตตามโครงการรับจำนำข้าว ศอตช. ได้รายงานสรุปความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีในโครงการรับจำนำข้าว ในส่วนที่ ป.ป.ท. รับผิดชอบจำนวน 987 คดี โดยตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนครบทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน และสรุปตัวเลขผู้กระทำความผิดและค่าเสียหายอีกร้อยละ 80 ที่เหลือ เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามคำสั่งมาตรา 44 รวม 8 คำสั่ง เพื่อตรวจสอบข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต 353 คน ซึ่งขณะนี้ได้ข้อยุติคือมีข้าราชการที่ถูกให้ออกจากราชการในกรณีต่างๆ 127 คน แบ่งเป็นพ้นจากตำแหน่ง ต้นสังกัดให้ออก หรือครบวาระ รวม 107 คน ส่วนอีก 20 คน อยู่ระหว่างการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอีก 37 คน ต้นสังกัดตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ยังมีเรื่องค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. ถ้า ป.ป.ช. ชี้มูลว่าอย่างไรก็จะเป็นไปตามนั้น และอยู่ระหว่างที่ส่วนราชการตรวจสอบทางวินัยอีก 66 คน จึงจะมีเหลืออีก 123 คน ที่ต้นสังกัดยังไม่รายงานผล

นอกจากนี้ กรรมการและเลขานุการ คตช. เผยว่า ในวาระเพื่อพิจารณา ที่ประชุม คตช. พิจารณาให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตของทางราชการต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการภาครัฐให้มีความโปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมทั้งเป็นการป้องกันการทุจริต  โดยอาศัยการดำเนินการตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ ที่ประชุม คตช. เห็นชอบมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเพื่อประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ และให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตาม เร่งรัดการเผยแพร่คู่มือสำหรับประชาชนของหน่วยงานของรัฐลงในเว็บไซต์ของหน่วยงานอย่างน้อย 2 ภาษา พร้อมกับให้สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ศอตช. กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ก.พ.ร. ประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนในกรณีที่ประชาชนหรือผู้รับบริการได้รับความเดือดร้อนหรือพบเห็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการตามคู่มือสำหรับประชาชน โดยให้ร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ท. และให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่มีคู่มือสำหรับประชาชนเพิ่มเติมช่องทางการร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งเมื่อได้รับข้อร้องเรียน ให้สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ศอตช. ดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่ 69/2557 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ส่งเรื่องไปยังหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยให้บังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางกฎหมายอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว และหากหน่วยงานของรัฐปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการให้ถือเป็นความผิดทางวินัยหรือาญาแล้วแต่กรณี  นอกจากนี้ ให้สำนักงาน ป.ป.ท. ประสานการดำเนินการกับจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการอย่างโปร่งใสและรวดเร็ว

ข่าวทั่วไป : คตช.สั่งเตรียมข้อมูลชี้แจง กรณีองค์กรต่อต้านฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (เอพีจี) กำลังประเมินไทย

business highlight online : post 15 มีนาคม 2560 เวลา 21.23 น.