นายกฯประกาศขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้านเกษตร-อาหาร-เทคโนโลยีชีวภาพ

1249

business highlight online : วันนี้ (17 มีนาคม 2560)  เวลา 09.30 น. ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้านการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ” ว่า วันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกคนต้องก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ว่าสถานการณ์ภายนอก เช่น สภาพภูมิอากาศโลก โรคระบาด ภัยพิบัติ เป็นต้น ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทุกคนต้องเรียนรู้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน และต้องการให้คนไทยมีความกินดีอยู่ดี มีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งตนเองได้

ดังนั้น รัฐบาลจึงให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model) ในทุกมิติ ทั้งภาคธุรกิจ เกษตร การศึกษา ไปสู่โมเดลใหม่ Thailand 4.0 เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่จากระบบเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักรและทรัพยากรมาผลิตบนฐานความรู้และเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เพื่อพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจไทยไปสู่ เศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า และเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย

1) กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4) กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 5) กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง

ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มนี้ จะต้องพัฒนาด้วยตนเองเป็นหลักและสอดรับกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  อีกทั้งยังต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะกำหนดมาตรการต่างๆให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นแผนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ 1) ด้านความมั่นคงเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน 2) ด้านเศรษฐกิจที่สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3) ด้านสังคมที่จะสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 4) ด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ 5) ด้านสิ่งแวดล้อม และ 6) ด้านการบริหารราชการแผ่นดินที่จะบริหารจัดการในภาครัฐ

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้กำหนดทิศทางการพัฒนาในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก สำหรับกลุ่มเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถอาศัยทุนความได้เปรียบของประเทศไทยในความหลากหลายเชิงชีวภาพมาต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความกินดี อยู่ดีให้กับประชาชนชาวไทยในทุกภูมิภาค และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการพิจารณาทบทวนกฎหมายและระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเทคโนโลยีและธุรกิจที่มีการต่อยอด รวมทั้งทบทวนกฎหมายและระเบียบที่ล้าสมัยและทำให้การดำเนินงานมีความล่าช้า ซึ่งไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะลดมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชน แต่เป็นการปรับปรุงการทำงานให้ทันสมัย รวดเร็วมากขึ้น อีกทั้ง ขอให้กระทรวงแรงงานสนับสนุนสวัสดิการตามความต้องการของนายจ้างและตลาดแรงงาน เพื่อยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานทุกประเภทให้มีความทันสมัย  สามารถใช้ภาษาสื่อสารกับนายจ้างได้ โดยเฉพาะการสอนภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภาษาที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน เพื่อยกระดับเป็นหัวหน้างาน พร้อมกับแนะนำส่งเสริมให้ความรู้โดยการทำป้ายสอนภาษาต่างๆในสถานประกอบการอีกด้วย

ในส่วนของสถาบันการศึกษานั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะต้องมีบทบาทในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และโครงสร้างการวิจัยและการพัฒนาไปพร้อมๆกัน ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีส่วนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามนโยบายรัฐบาล   และต้องนำพาประเทศไทยให้ก้าวหน้าทันเทคโนโลยีต่างๆ ให้มีความทันสมัย นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบเดิมเป็นการเรียนแบบ Active Learning โดยการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาเกิดความอยากรู้ อยากทำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยมหาวิทยาลัยต้องสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากความรู้และข้อมูลที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆของรัฐตั้งแต่ระดับกระทรวงลงมา ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถสร้างหรือใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าสินค้าและบริการ อีกทั้ง ช่วยเกษตรกรให้ผันตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรมาเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตรสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Smart Farmer มีการบริหารจัดการที่ดีมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนเครือข่ายของมหาวิทยาลัยต้องกระจายความรู้ออกไปให้ทั่วประเทศสร้างความเจริญ และก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สามารถทำงานในถิ่นฐานบ้านเกิดได้โดยไม่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีงานที่ดีกระจายอยู่ทั่วประเทศ และในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมทั้งองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ จะช่วยให้ผู้คนในสังคมและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ใช้องค์ความรู้จากนักวิชาการและนักศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการบริการ ตัวอย่างการกระจายความรู้สู่ภูมิภาคนี้ ได้แก่ โครงการ InnoHub ของประชารัฐ ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้ง Thailand 4.0 จะต้องขับเคลื่อนด้วยพลังประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและประชาสังคม เป็นหัวใจหลักที่จะนำมาสู่ความสำเร็จ พร้อมที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาในทุกๆด้านของประเทศ และช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและเติบโตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

เศรษฐกิจนโยบาย : นายกฯประกาศขับเคลื่อน Thailand 4.0 ด้านเกษตร-อาหาร-เทคโนโลยีชีวภาพ

business highlight online : post 17 มีนาคม 2560 เวลา 15.55 น.