business highlight online : 29 พฤษภาคม 2560 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน Thailand Rice Convention 2017 และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การค้าข้าวไทยและทิศทางในอนาคต” สาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ข้าว” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักและเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้มาอย่างยาวนานของไทย ประชากรกว่า 4 ล้านครัวเรือนเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทำให้แต่ละปีมีผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งสามารถส่งออกข้าวเฉลี่ย 10 ล้านตัน/ปี ไปยังตลาดทั่วโลก สร้างรายได้กว่า 150,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ไทยสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวกลับคืนมาได้ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาข้าวคงเหลือสต็อก โดยได้วางกรอบยุทธศาสตร์และแผนการระบายข้าวอย่างรอบด้าน คำนึงถึงผลกระทบต่อตลาดและราคาข้าวที่เกษตรกรจะได้รับ มีการทำงานอย่างเป็นระบบยึดหลักความสุจริต โปร่งใส และรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ รวมทั้งพิจารณาจังหวะเวลาในการระบายข้าวอย่างเหมาะสม อีกทั้งสต็อกข้าวปริมาณกว่า 18 ล้านตันที่รัฐบาลต้องเร่งระบายข้าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วยังเป็นอุปทานข้าวที่กดทับตลาด ทำให้กลไกการค้าข้าวตามปกติถูกบิดเบือนอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ ภาครัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวในสต็อกมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งรัฐบาลได้ทยอยระบายข้าวตามกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวได้ให้ความเห็นชอบแล้วประมาณ 13 ล้านตัน มูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท และตั้งเป้าหมายที่จะระบายข้าวที่เหลือให้หมดในช่วงของรัฐบาลนี้ เพื่อไม่ให้รัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไป และเพื่อให้กลไกตลาดกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยเวลา
การแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาไทยถือเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ปัญหาข้าวทั้งระบบมีความซับซ้อน ต้องใช้การวางแผน การสร้างองค์ความรู้ ใช้ระยะเวลา และต้องอาศัยความร่วมมือ ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวไทยอย่างชัดเจนและเป็นระบบ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านการผลิตและการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทยและทำให้ไทยเป็นผู้นำการค้าข้าวและมีนวัตกรรมในสินค้าข้าวที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถสร้างกลไกการตลาดข้าวให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลได้วางแนวทางในการดำเนินการในด้านต่างๆ ประกอบด้วย การสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวนา การบริหารจัดการพื้นที่ปลูกข้าวและพืชเกษตรอื่นๆ การลดต้นทุนการผลิต การยกระดับคุณภาพผลผลิต การพัฒนานวัตกรรม และมาตรฐานข้าว ตลอดจนการจัดการด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในทุกห่วงโซ่ และสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าวให้มีประสิทธิภาพ
“การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคสามารถช่วยขับเคลื่อนข้าวไทยสู่มิติใหม่ บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการสร้างค่านิยมให้ชาวนาไทยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาและพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดทำแผนและทบทวนยุทธศาสตร์ข้าวทุก 5 ปี เพื่อจัดทำแผนปฏิรูปภาคเกษตรในระยะ 20 ปี ซึ่งได้ดำเนินงานไปแล้วบางส่วนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อสร้างความสมดุลในอุปสงค์และอุปทานของข้าว มุ่งเน้นให้การตลาดนำการผลิต (Demand Driven) โดยรัฐบาลช่วยอำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จของแผนการลดพื้นที่ปลูกข้าวระยะยาว รวมทั้งสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการผลิตและการตลาด
นโยบายนาแปลงใหญ่ ส่งเสริมให้เกษตรรายย่อยรวมกลุ่มกันทำนา แปลงละ 1,000 ไร่ ขึ้นไป เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ รวมทั้งสร้างอำนาจต่อรองราคา โดยรัฐบาลสนับสนุนจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร และประสานผู้ประกอบการให้รับซื้อผลผลิตในราคานำตลาดเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยภาครัฐกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้สอดคล้องกับลักษณะและความต้องการของตลาดแต่ละกลุ่ม”
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายในการรักษาตลาด รวมทั้งขยายตลาดส่งออกข้าวไทยไปพร้อมกัน โดยเน้นดำเนินการเชิงรุกเพื่อเพิ่มและขยายโอกาสในการส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วโลก เช่น การจัดคณะผู้แทนไทยเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเจรจาซื้อขายข้าวในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจีกับประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ โดยตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลไทยได้ส่งมอบข้าวให้รัฐบาลต่างประเทศภายใต้การทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี ปริมาณรวม 3.43 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการจำหน่ายและการประชาสัมพันธ์ข้าว รวมถึงผลิตภัณฑ์จากข้าว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นข้าวที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างมากในตลาดบนและตลาดเฉพาะกลุ่ม ให้มีราคาสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการค้าข้าวในปัจจุบันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกข้าวของไทย ซึ่งทั่วโลกให้ความเชื่อมั่นและยอมรับเสมอมา
ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีกลไกตลาดมารองรับในการเชื่อมโยงสินค้าจากแหล่งผลิตโดยตรง ไปยังตลาดกลางและศูนย์กระจายสินค้าข้าว เพื่อเชื่อมโยงต่อไปยังตลาดเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมโยงไปยังตลาดต่างๆทั่วโลก ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ข้าวไทยให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการเชื่อมโยงวัฎจักรข้าวไทยกับการท่องเที่ยววิถีชุมชน หรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ยังเป็นการกระจายรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้มีการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดและบูรณาการทำงาน โดยสนับสนุนองค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ปัจจัยการผลิต เครื่องจักรกลการเกษตร ช่องทางการกระจายสินค้า ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้แก่ชาวนาและผู้ประกอบการด้วย “กลไกประชารัฐ” เพื่อเพิ่มศักยภาพในการวางแผนการผลิต การแปรรูป และการจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ชุมชนเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อน เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวนาเป็นหลัก มาตรการต่างๆเหล่านี้จึงเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจความมั่นคงตั้งแต่ระดับฐานรากอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน ระบบการค้าของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หากสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงและนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ ก็จะเปิดโอกาสทางการค้าใหม่ โดยสินค้าข้าวไทยเองก็สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมข้าวไทยทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆในเชิงสร้างสรรค์ขึ้นได้ หากได้รับการสนับสนุนและการผลักดันอย่างเหมาะสม
“นวัตกรรม” เป็นอีกโครงการที่รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญ จึงได้มุ่งผลักดันการบริหารจัดการข้าวให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศ โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ที่มีเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตจาก “สินค้าข้าวเชิงโภคภัณฑ์” ไปสู่ “สินค้าข้าวเชิงนวัตกรรม” และส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โดยยกระดับภาคการเกษตรและชาวนาไทยให้เป็น Smart Farmer ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงผลักดันให้ชาวนาได้รู้จักทำการค้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนและสามารถต่อยอดดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง จนสามารถพัฒนาไปเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการ (SMEs Farmer) ได้ในที่สุด
ทั้งนี้ การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมข้าว โดยการนำเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่เข้ามาช่วย เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของข้าวไทย ซึ่งรัฐบาลอยากให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า อุตสาหกรรมข้าวจะเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าการขายข้าวเพื่อเป็นอาหารหลักในการบริโภคโดยตรง หรือเป็นเพียงสินค้าจำเป็นเท่านั้น
ข้าวไทยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นและมีคุณประโยชน์มากมายที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หลายชนิด ทั้งในกลุ่มสินค้าประเภทอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร โดยสินค้านวัตกรรมข้าวไทยจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในตลาดทุกระดับ รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมอย่างจริงจัง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตรนวัตกรรมอย่างครบวงจร คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (สกน.) ขึ้น ภายใต้การดำเนินงานของกรมการค้าต่างประเทศ
ที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมให้อุตสาหกรรมข้าวของไทยเติบโต และมีการพัฒนาให้เท่าทันกับสภาวะตลาดและกลไกทางเศรษฐกิจของโลก เพื่อให้ข้าวยังคงเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่มีความสำคัญและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคตด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการทำงานกันอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาระบบข้าวให้มีความมั่นคงแข็งแรงแล้ว ประโยชน์ต่างๆที่ท่านจะได้รับย่อมเกิดขึ้นในสังคมทุกระดับ
การเกษตร : นายกฯเผยระบายข้าวค้างสต็อก 18 ล้านตันไปแล้ว 13 ล้านตัน มูลค่ากว่าแสนล้าน
business highlight online : post 29 พฤษภาคม 2560 เวลา 23.20 น.