business highlight online : วันนี้ (3 สิงหาคม 2560) เวลา 09.45 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ASEAN –India Expo and Forum 2017 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาเป็นประธานเปิดงาน ASEAN – India Expo and Forum 2017 ในโอกาสครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์อาเซียน – อินเดีย งานในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจของอาเซียนและอินเดียจะได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นและเปิดมุมมองทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมโยงทางสังคม เศรษฐกิจ และความเจริญเติบโตร่วมกันต่อไป
“สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากพลวัตการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการค้าโลก ขณะนี้ถึงเวลาที่ภูมิภาคเอเชียต้องร่วมกัน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและยั่งยืนในระยะยาว บนพื้นฐานของการเจริญเติบโตไปด้วยกัน ภูมิภาคอาเซียนและอินเดียถือเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก หากอาเซียนและอินเดียร่วมกันทำงานได้อย่างสอดประสานแล้ว จะทำให้เกิดอำนาจในการต่อรองและเป็นตลาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมได้
10 ประเทศสมาชิกอาเซียนประกอบด้วยสมาชิกที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจและระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน การรวมตัวของอาเซียนและการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้สามารถดึงศักยภาพของภูมิภาคมาใช้อย่างเต็มที่ เกิดตลาดและฐานการผลิตที่สำคัญของโลก โดยในปีนี้นอกจากจะครบรอบ 25 ปีความสัมพันธ์อาเซียน – อินเดียแล้ว ยังเป็นปีที่อาเซียนมีอายุครบ 50 ปีด้วย และหลังจากที่อาเซียนได้เข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้กำหนดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ AEC 2025 ใหม่ เพื่อเร่งผลักดันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น และดึงศักยภาพของภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เกิดการพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดย AEC 2025 มียุทธศาสตร์สำคัญที่จะยกระดับการรวมตัวด้านการค้า การลงทุน การเงิน และการเคลื่อนย้ายบุคลากร การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน การเชื่อมโยงและความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่สำคัญ การพัฒนาอย่างครอบคลุมและทั่วถึงในทุกระดับ และการทำให้อาเซียนมีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกอย่างแท้จริง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีเห็นว่า สมาชิกอาเซียนสามารถร่วมกันก้าวไปสู่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ของอาเซียนในระยะ 10 ปีข้างหน้าได้ เนื่องจากสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศล้วนมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศในกลุ่ม CLMV ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง และอาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่เปิดรับทั้งโอกาสและความท้าทายที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัฒน์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุค 4.0 ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต ซึ่งจะผลักดันให้สมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกในยุคอนาคตได้อย่างรวดเร็วและกลมกลืน
ทั้งนี้ ไทยได้เริ่มพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่ Thailand 4.0 ที่เน้นการสร้างมูลค่า และการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างคนไทยให้มีทักษะความรู้ความสามารถ พร้อมรองรับความต้องการของตลาดและภาคธุรกิจ และพร้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ส่วนประเทศอินเดียถือเป็นประเทศที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งของโลก ด้วยมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก เป็นตลาดที่มีขนาดมหาศาล และใหญ่มากกว่าสองเท่าของอาเซียน โดยอินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ในระยะที่ผ่านมา อินเดียได้เผยศักยภาพสู่ประชาคมโลกอย่างเป็นรูปธรรมผ่านนโยบาย Make in India ของท่านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่ประกาศเมื่อปี 2014 เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอินเดียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาและการจ้างงานภายในประเทศ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งในอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและการทำธุรกิจ นอกจากนี้ อินเดียยังมีนโยบายที่น่าสนใจอย่าง Digital India ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจและสังคมดิจิตัล การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการ ผ่านการทำงานแบบบูรณาการของภาครัฐ ส่งเสริมการนำระบบดิจิตัลมาพัฒนาระบบราชการเพื่อลดขั้นตอนและให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนอย่างรวดเร็ว และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นในการบริหารนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนการใช้นโยบายการเงินที่ช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค โดยลดการขาดดุลงบประมาณ และลดภาวะเงินเฟ้อด้วย
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างอาเซียนและอินเดียเป็นความสัมพันธ์อย่างรอบด้าน และเป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในฐานะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่ปี 1992 และครบรอบ 25 ปี ในปีนี้ ทำให้เกิดศักยภาพในการช่วยกันยกระดับการพัฒนาในด้านต่างๆ ร่วมกัน พร้อมทั้งได้มีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน – อินเดีย โดยมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2010 ครอบคลุมทั้งเรื่องการเปิดเสรีทางการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน
อาเซียนและอินเดียยังคงเดินหน้าขยายความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนการเจรจาที่สำคัญ โดยอาเซียนและประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ประกาศเริ่มการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อปี 2013 ซึ่งจะเป็นการยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภูมิภาค ครอบคลุมการเปิดเสรี ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก ลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน และเสริมสร้างกฎกติกาทางการค้าให้ทันกับเศรษฐกิจโลกในยุคใหม่ ซึ่งปัจจุบันสมาชิก RCEP ได้ตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้ยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยแรงผลักดันและความมุ่งมั่นอันแรงกล้าจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่สำคัญเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเจรจาดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียกำลังให้ความสำคัญกับนโยบาย Act East Policy ที่มุ่งหวังสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่มูลค่าที่แข็งแกร่งกับประเทศในภูมิภาคเอเชียทางด้านตะวันออก ซึ่งอาเซียนคือเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยเริ่มจากประเทศกลุ่ม CLMV จนกระทั่งเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มเอเชียและแปซิฟิคต่อไป
นอกจากนี้ การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ ระหว่างอินเดียและอาเซียนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการอำนวยความสะดวกทางการค้า การบริการและการลงทุน รวมทั้งช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อาทิ การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เพื่อเป็นประตูเชื่อมโยงสู่อาเซียนผ่านโครงการ Trilateral Highway Project ที่อินเดียสนับสนุนการสร้างทางหลวงเชื่อม 3 ฝ่าย อินเดีย – เมียนมา – ไทย และเชื่อมโยงไปยังกัมพูชา ลาว และเวียดนาม รวมถึงพัฒนา Mekong – India Economic Corridor เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับอินเดียฝั่งตะวันออก โดยจะเชื่อมเส้นทางทั้งทางบกและทางน้ำ ผ่านทางโฮจิมินห์ – พนมเปญ – กรุงเทพฯ – ทวาย – เจนไน เข้าด้วยกัน ตลอดจนสนับสนุนการเปิดน่านฟ้าเสรีกับอาเซียนด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การจะนำศักยภาพของอาเซียนและอินเดียออกมา จำเป็นต้องเร่งพัฒนาและเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญร่วมกัน 5 ด้าน ดังนี้
1.การพัฒนาภาครัฐดิจิทัล โดยเน้นบทบาทในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพื่อยกระดับการบริหารราชการ การให้บริการประชาชน การเพิ่มประสิทธิภาพ และความโปร่งใส โดยอาศัยเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลในการปรับปรุงระบบการทำงาน การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและลดต้นทุนค่าเสียโอกาสของประชาชนและภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง
2.การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนและอินเดีย เป็นภูมิภาคแห่งอนาคต โดยเร่งการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมระบบนิเวศ ด้านนวัตกรรมที่สามารถเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs และภาคธุรกิจขนาดใหญ่นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในยุคใหม่ได้
3.การพัฒนาภาคเกษตร โดยส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศใน ภาคเกษตร และเทคโนโลยีต่างๆที่เหมาะสม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่มูลค่า การสร้าง Smart Farmers การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเพื่อสังคม การสร้างความเชื่อมโยงเข้ากับตลาดและอุตสาหกรรมที่จะนำไปต่อยอด และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาคการเกษตรตลอดจนการขนส่งเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงดังกล่าวอย่างแท้จริง
4.การพัฒนา MSMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่และเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค โดยเน้นอำนวยความสะดวก และส่งเสริมความสามารถในการประกอบธุรกิจทั้งตลาดในประเทศและระหว่างประเทศ พัฒนาให้สามารถก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงส่งเสริมให้ สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาคและของโลก
5.การพัฒนาและยกระดับคุณภาพกำลังคน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเพื่อรองรับกับโอกาสและความท้าทายในโลกยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพสูง มีทักษะความรู้ความสามารถและพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของอาเซียนและอินเดียจะช่วยเตรียมพร้อมในการสร้างพลังขับเคลื่อนร่วมกันไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและความเจริญเติบโตโดยผ่านกลไกความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ทั้งในระดับภาครัฐและภาคเอกชน และเห็นว่าทุกท่านที่เข้าร่วมงานเป็นกลไกความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างอาเซียนและอินเดีย และจะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานร่วมกันได้อย่างสอดประสานและไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้ศักยภาพที่มีของอาเซียนและอินเดียอย่างเต็มกำลังเพื่อร่วมกันพัฒนาความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
เศรษฐกิจต่างประเทศ : นายกฯชูอินเดียคือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-อาเซียน
business highlight online : post 3 สิงหาคม 2560 เวลา 21.20 น.