กระทรวงเกษตรฯผนึกพลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ตามแนวทางของ ร.9

1436

business highlight online : กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผนึกกำลังทุกภาคส่วนร่วมเดินหน้าเกษตรกรรมยั่งยืน เปิดเวทีระดมความคิดเห็นปั้น “Road Map ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้แผนฯ 12” มุ่งเป้าเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ในปี 64

เมื่อวานนี้ (4 เมษายน 2561) นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดทำ Road Map การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้แผนฯ 12” ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี ว่า ประเทศไทยได้มีการบรรจุเป้าหมายการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนไว้ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) และต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) ที่กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 5 ล้านไร่ ในปี 2564 แต่ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนยังเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้จะมีความพยายามจากหลายภาคส่วน แต่พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯจึงได้ปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยยกเลิกคณะกรรมการฯในบางส่วนที่มีความซ้ำซ้อน และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้นใหม่ เพื่อเร่งรัดดำเนินการกำหนดมาตรการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้งระดับนโยบาย และการทำงานระดับพื้นที่ไปพร้อมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืนในระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนในภาคอีสาน โดยเริ่มต้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ จังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ เพื่อให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านไร่ และมีแผนจะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆต่อไป อีกทั้งได้มีการประกาศปฏิญญาขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทยพีจีเอส ที่ประกอบด้วยภาคีเครือข่ายต่างๆ โดยกระทรวงเกษตรฯอยู่ในระหว่างเร่งรัดการทำงานให้เกิดผลในเชิงพื้นที่

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานหลักแนวคิดสู่การปฏิบัติในเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย (1)ปรัชญา (2)ทฤษฎีใหม่ (3)วิธีปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอน (4) เทคนิค:นวัตกรรม และ (5)วิธีบริหารบนความขาดแคลน (แบบคนจน) ทรงเน้นย้ำว่า ความยั่งยืน คือความเหมาะสม โดยเริ่มจากการพัฒนาคน เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและอยู่ได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรที่เริ่มจากการพัฒนาตนเองปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากเดิมไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบอื่นๆ สำหรับการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในระยะต่อไป มี 3 เรื่องสำคัญที่กระทรวงเกษตรฯจะต้องรีบดำเนินการ คือ (1) การออก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (2) การจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในภาพรวมเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันของทุกภาคี และ (3) การจัดทำฐานข้อมูลกลางเกษตรกรรมยั่งยืนที่สามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาบนข้อเท็จจริงได้ทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องจะเป็นประเด็นสำคัญในการระดมความคิดเห็นในการสัมมนาครั้งนี้ โดยจะนำข้อสรุปจากการสัมมนามาปรับปรุงและจัดทำแนวทางการทำงานร่วมกันให้สามารถขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศได้ต่อไป” นายวิวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯได้ปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้นใหม่ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร) เป็นประธาน มีภาครัฐทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ปราชญ์เกษตร ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อกำหนดมาตรการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ โดยมุ่งเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนบรรลุผล ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน ได้ร่วมกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาปฏิรูปการเกษตรด้วยการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน นำไปสู่การจัดทำRoad Map ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยผู้ร่วมการสัมมนาฯ ระดมความคิดเห็น ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ จำนวน 120 คน ได้แก่ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ปราชญ์เกษตร และผู้นำศาสนา บ้าน วัด โรงเรียน เป็นต้น

เศรษฐกิจพอเพียง : กระทรวงเกษตรฯผนึกพลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ตามแนวทางของ ร.9

business highlight online : post 5 เมษายน 2561 เวลา 11.12 น.