business highlight online : เมื่อวานนี้ (16 พฤษภาคม 2561) เวลา 13.30 น. นายเพค อุน-กยู (H.E. Mr. Paik Un-gyu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงาน สาธารณรัฐเกาหลี เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสนำคณะนักธุรกิจเกาหลีใต้เยือนไทย ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและขอบคุณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงาน นำคณะนักธุรกิจเกาหลีใต้จากบริษัทชั้นนำกว่า 180 คน เดินทางมาไทย เพื่อฉลองครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน จึงหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงอย่างต่อเนื่องต่อไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีกับความสำเร็จของการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำเกาหลีใต้กับผู้นำเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงนามในปฏิญญาปันมุนจอม (Panmunjom Declaration) ที่ส่งผลให้สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และไทยพร้อมจะทำงานร่วมกับเกาหลีใต้อย่างสร้างสรรค์
ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นทางเศรษฐกิจและเห็นว่า ไทย – เกาหลีใต้ ควรเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งการเดินทางเยือนไทยของคณะนักธุรกิจเกาหลีใต้ครั้งนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจและกระตุ้นการค้าการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นได้ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีนโยบายหลายอย่างที่สามารถส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกันได้ โดยเฉพาะ New Southern Policy และ The 4th Industrial Revolution ของเกาหลีใต้กับ Thailand 4.0 โครงการ EEC และ New S-Curve ของไทย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังอวยพรให้งานสัมมนา Maekyung Thailand Forum ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปเข้าร่วม ประสบความสำเร็จดังที่หวังไว้ พร้อมหวังว่าฝ่ายเกาหลีใต้จะเห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ไทยและเกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ที่ดีและยาวนานในทุกระดับมาตลอดระยะเวลา 60 ปี และด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่นทำให้เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่าทั้งสองประเทศจะเพิ่มมูลค่าการค้าให้บรรลุ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกัน
รัฐบาลไทยขอเชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้ให้มาลงทุนในโครงการ EEC ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนรองรับด้วยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง โดยไทยมีแผนการลงทุนที่จะเปลี่ยนให้ภาคตะวันออกของไทยเป็นประตูสู่เมียนมา เวียดนาม ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ ซึ่งประกอบด้วยโครงการสำคัญๆ อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา การก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด
นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนงานการลงทุนเพื่อยกระดับและพัฒนา EEC ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ซึ่งจุดเด่นของ EECi คือ เป็นเมืองนวัตกรรม (Innovation City) ที่เป็นต้นแบบของการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในลักษณะองค์รวม ซึ่งในฐานะที่เกาหลีใต้มีความเป็นเลิศในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง และประสบความสำเร็จอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงหวังว่าเกาหลีใต้จะเข้ามาร่วมมือกับไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่นี้ต่อไปในอนาคตด้วยกัน
รัฐบาลไทยมุ่งผลักดันประเทศไทยเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในภาคอุตสาหกรรมไทย ที่จะก้าวเข้าสู่ยุคที่ให้ความสำคัญกับการผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมุ่งเน้นพัฒนา 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ (1) หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (4) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ (5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบาย The 4th Industrial Revolution ของประธานาธิบดีมุน แช-อิน
รัฐบาลไทยยังได้แก้ไขกฎหมายการส่งเสริมการลงทุน และออกมาตรการเพื่อเร่งรัดการลงทุนเพิ่มเติม โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนจำนวนมาก เพื่อขจัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ปราศจากคอรัปชั่น มีความโปร่งใส สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่นักลงทุนไทยและต่างประเทศ
ในเดือนมิถุนายนนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดกับกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ในกรอบ ACMECS โดยจะมีการรับรองแผนแม่บทที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคแบบไร้รอยต่อ การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ และการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและยั่งยืน เพื่อให้กลุ่มประเทศสมาชิก ACMECS เติบโตไปพร้อมกัน ดังนั้น ด้วยวิสัยทัศน์ดังกล่าวทั้งของไทยและภูมิภาค ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ จึงหวังว่าเกาหลีใต้จะพิจารณามาร่วมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับไทย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเครือข่ายเส้นทางคมนาคมในการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับภูมิภาคอื่นๆด้วย
ในช่วงท้าย ฝ่ายเกาหลีใต้ให้คำมั่นว่าจะดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมที่จะทำงานและให้ความร่วมมือเพื่อผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไปในทุกมิติ
อนึ่ง ในช่วงต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานเกาหลีใต้ ได้กล่าวว่า รู้สึกประทับใจต่อการต้อนรับของฝ่ายไทย โดยการนำคณะนักธุรกิจเกาหลีใต้มาเยือนไทยในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทย – เกาหลีใต้ ทั้งนี้เกาหลีใต้มีนโยบาย New Southern Policy ซึ่งให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก และเห็นว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่สามารถเป็นประตูของเกาหลีใต้ในอาเซียนได้ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีเป้าหมายที่จะเดินหน้าเศรษฐกิจไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ยินดีสนับสนุนให้นักธุรกิจเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆของไทย
การลงทุน / อุตสาหกรรม : ไทย – เกาหลีใต้ เห็นพ้องเพิ่มมูลค่าการค้า – การลงทุนระหว่างกัน
business highlight online : post 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.22 น.