business highlight online : พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวนไม่เกิน 3,000,000,000,000 บาท (สามล้านล้านบาท) ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ณ ห้องประชุมรัฐสภา อาคารรัฐสภา 1 ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2561
………………………………………………………..
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เคารพ
คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
หลักการ
ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,000,000,000,000 บาท (สามล้านล้านบาท)
เหตุผล
เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำหรับใช้เป็นหลัก ในการจ่ายเงินแผ่นดิน
ท่านประธานที่เคารพ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันนี้ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สำหรับคำแถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้นำเสนอต่อท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นเอกสารแล้ว โดยกระผมขออนุญาตนำเสนอสาระสำคัญโดยสรุป ดังต่อไปนี้
ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป
เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 – 4.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2559 และร้อยละ 3.9 ในปี 2560 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในปี 2561 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศและการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7 ในขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าจะเกินดุลร้อยละ 8.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.9 – 4.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนที่มีการขยายตัวสูงขึ้น รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้าง ในขณะที่การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวยังมีการขยายตัวดีตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2562 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง ร้อยละ 0.9 – 1.9 ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 6.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ฐานะและนโยบายการคลัง
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,673,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากปีก่อน เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอน การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 123,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,550,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่คณะรัฐมนตรีได้นำเสนอต่อสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,000,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,550,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 450,000 ล้านบาท
ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 317,166 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
ฐานะและนโยบายการเงิน
เศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น จากแรงขับเคลื่อนของภาคส่งออกที่ขยายตัวดีและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำ แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นตามการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ในการประชุม 2 ครั้งแรกของปี 2561 เพื่อรักษาภาวะการเงินให้อยู่ในระดับผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ
สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 มีจำนวน 215,152.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 3.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ท่านประธานที่เคารพ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติฉบับนี้ รัฐบาลได้จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และมีความสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล รวมทั้งได้น้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่สำคัญ ดังนี้
1.จำแนกงบประมาณเป็น 6 กลุ่ม เพื่อแสดงประเภทค่าใช้จ่ายแต่ละกลุ่มงบประมาณให้ชัดเจนและสามารถจัดสรรงบประมาณตามลำดับความสำคัญได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน (Function) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 21 เรื่อง กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area) จำนวน 3 เรื่อง กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และกลุ่มงบกลาง
2.พิจารณาการใช้จ่ายครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ทั้งเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ และแหล่งเงินอื่น โดยให้นำเงินรายได้และเงินสะสมคงเหลือ มาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3.ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ มีการกระจายตัวอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง และตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชน มีรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน สมเหตุสมผล โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน มีความพร้อมสูง มีความคุ้มค่า ตลอดจนนำผล การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และ 2561 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงาน
4.ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้เกี่ยวกับการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีครบถ้วนแล้ว
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
ท่านประธานที่เคารพ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อสมาชิกผู้ทรงเกียรติ มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,000,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,261,488.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 75.4 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 660,305.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 78,205.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งจะได้เรียนให้ทราบถึงสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยสรุปดังนี้
1.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย 6 กลุ่มงบประมาณรายจ่าย สรุปได้ดังนี้
1.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 1,060,869 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35.4 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของบุคลากรภาครัฐด้วยแล้ว
2.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน (Function) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวน 764,128.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.5 ของวงเงินงบประมาณ จำแนกเป็น 2 แผนงานหลัก ประกอบด้วย
2.1 แผนงานพื้นฐาน จำนวน 311,267.9 ล้านบาท
2.2 แผนงานยุทธศาสตร์ จำนวน 452,860.9 ล้านบาท
3.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 487,791.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินงานเรื่องสำคัญ จำนวน 21 เรื่อง
4.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 325,600.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.8 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินงานบูรณาการในระดับพื้นที่ จำนวน 3 เรื่อง
5.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็น จำนวน 259,609.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 78,205.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 181,404.4 ล้านบาท
6.กลุ่มงบกลาง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 102,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง และสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ
รัฐบาลได้ริเริ่มการจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำแนก 6 ด้าน เพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้จัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สอดคล้องตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยได้กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 329,239.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของวงเงินงบประมาณ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 406,496 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.5 ของวงเงินงบประมาณ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 560,884.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของวงเงินงบประมาณ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตจากภายใน
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 397,581.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.3 ของวงเงินงบประมาณ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 117,266 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 838,422.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.9 ของวงเงินงบประมาณ
รายการค่าดำเนินการภาครัฐ
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 350,109.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.7 ของวงเงินงบประมาณ
ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ
กระผมขอสรุปสาระสำคัญของการดำเนินการของรัฐบาล ภายใต้ร่างพระราชบัญญัตินี้ ในบางประเด็นสำคัญ ดังนี้
การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ รัฐบาลมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ รักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควบคู่กับผลประโยชน์ของชาติ และบริหารจัดการภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อำนวยความปลอดภัยและเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การก่อการร้าย และภัยคุกคามทุกรูปแบบ โดยให้มีระบบการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่ไม่มีสถานภาพ เสริมสร้างประสิทธิภาพงานด้านข่าวกรองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ป้องกันการตกเป็นเหยื่อ การค้ามนุษย์ ไม่น้อยกว่า 1.1 ล้านคน คุ้มครองช่วยเหลือและฝึกอาชีพแก่เหยื่อผู้เสียหาย จากขบวนการค้ามนุษย์เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมอย่างปลอดภัย
การแก้ไขปัญหาและลดจำนวนเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มุ่งเน้นการดำเนินงานในมิติด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนา และด้านการสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม มุ่งเน้นงานการข่าวและการมี ส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่พึ่งพาตนเองได้ด้วยหลักประชารัฐ ส่งเสริมโอกาสและมาตรฐานในการศึกษา การประกอบอาชีพเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ครัวเรือน รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบ
การเกษตร ผลักดันให้การผลิตภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ที่ผ่านมา ในปีการผลิต 2556/57 ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตรสุทธิ 48,500 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 58,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และจะยกระดับรายได้เงินสดทางการเกษตรสุทธิในปีการผลิต 2561/62 เป็น 61,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ผ่านนโยบายและมาตรการของรัฐบาลที่ริเริ่มขึ้นหรือดำเนินการต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmers) เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 100,000 ราย ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ 4.0 ส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ ไม่น้อยกว่า 4,600 แปลง ปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ไม่น้อยกว่า 220,000 ไร่ และส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 700,000 ไร่
อุตสาหกรรม สร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ยกระดับผลิตภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของสถานประกอบการ แรงงาน ผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotic Excellence : CORE) สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง “CLMV” เพื่อยกระดับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมศักยภาพ พัฒนาและส่งเสริม SME โดยปรับปรุงข้อมูล พัฒนาผู้ให้บริการ แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และขับเคลื่อนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและบริการดิจิทัล โดยจัดให้มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน 10,000 ชุมชน พัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น สนับสนุนการจัดระบบแรงงานต่างด้าวแบบไป-กลับ และระบบการจัดการด้านความมั่นคงตรวจคนเข้าเมืองที่ได้มาตรฐาน จัดกิจกรรมการค้าชายแดน บริการออกใบอนุญาตทำงานในศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศ ที่ขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มศักยภาพ
รัฐบาลได้ริเริ่มการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องในทุกด้าน เพิ่มมูลค่า การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จัดตั้งสถาบันไอโอทีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการให้กับนักลงทุน พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่ง ทั้ง ทางถนน ทางราง สร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา ปรับปรุงทางเข้าท่าเรือจุกเสม็ด และศึกษาความเหมาะสมรถไฟทางคู่ สายชุมทางศรีราชา – ระยองและมาบตาพุด – จันทบุรี – คลองใหญ่ ทางน้ำ ปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือท่าเรือจุกเสม็ด และท่าเทียบเรือน้ำมันเพื่อเป็น ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ พัฒนาพื้นที่ธุรกิจและบริการเชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณเกาะจระเข้ ทางอากาศ พัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และในด้านอื่น ๆ อาทิ การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปารองรับความต้องการของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม และจัดทำระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
การท่องเที่ยวและบริการ เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรมให้มีมูลค่า ไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับนานาชาติจากทุกภาคส่วน สนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพระดับโลกและมหกรรมกีฬานานาชาติ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทย ยกระดับสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน พัฒนาและขยายแหล่งท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการสร้างแบรนด์การค้าประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 พัฒนาช่องทางการตลาดหลายรูปแบบ สร้างความเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศในอาเซียน พัฒนาและส่งเสริมครัวไทยสู่ครัวโลก
เพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ให้โครงข่ายคมนาคมมีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ จาก 1.876 ล้านล้านบาท ในปี 2557 เป็น 1.913 ล้านล้านบาท ในปี 2558 และจะเป็น 1.640 ล้านล้านบาทในปี 2564 ด้วยการเชื่อมโยงจากถนนสู่ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้ทั่วถึง ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สนับสนุนการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ และพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะทางราง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางอากาศด้วยการติดตั้งระบบจัดการรักษาความปลอดภัยพื้นที่การบินตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการและผู้ประกอบการ อำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยระบบ National Single Window (NSW) ที่ช่วยลดเวลาการนำเข้า – ส่งออก
การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมตามโปรแกรมยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ซึ่งเป็นโปรแกรมวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมสูง รวมทั้งส่งเสริมการจัดการและการถ่ายทอดองค์ความรู้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
การศึกษา สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยพัฒนาคุณภาพและเตรียมความพร้อมให้กับเด็กปฐมวัย จำนวน 980,900 คน เด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาไม่น้อยกว่า 829,600 คน การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี แก่ประชากรวัยเรียน รวมถึงเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาในทุกสังกัด ไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน สนับสนุนการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้แก่โรงเรียน ส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกลไม่น้อยกว่า 30,400 โรง พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนประชารัฐ ไม่น้อยกว่า 4,500 โรง สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชน และครู ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือมีความสามารถพิเศษในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก ทั้งในและต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 10,600 คน ส่งเสริมสถานศึกษาอาชีวศึกษาให้จัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วม ไม่น้อยกว่า 46,100 แห่ง สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นปราชญ์แห่งการพัฒนาท้องถิ่น สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ทัศนคติที่ดี และมีอาชีพที่มั่นคง ยกระดับผลสัมฤทธิ์การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ในทุกระดับ ครูผู้สอน 50,000 คน ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัดได้รับการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์และศิลปศาสตร์ (STEM & STEAM Education) จัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) 58,461 คน สร้างความร่วมมือการพัฒนาทักษะวิชาชีพผ่านประสบการณ์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานหรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองภาคการผลิตและบริการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก (New Engine of Growth) จำนวน 2,500 คน ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จำนวน 5,337 คน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างให้คนไทยมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ความมีวินัย จิตสาธารณะ จิตสำนึกและค่านิยมที่ดีงาม โดยนำหลักธรรมทางศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต
การสาธารณสุข ระบบประกันสุขภาพมีคุณภาพ ทั่วถึง เท่าเทียม และครอบคลุมกลุ่มประชากรไทยประมาณ 66 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.95 ของประชากรทั้งประเทศ โดยอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 48.6 ล้านคน ระบบประกันสังคม 12.7 ล้านคน และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 4.5 ล้านคน สำหรับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านเป้าหมายและอัตราค่าใช้จ่ายของผู้รับบริการทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดี โดยให้บริการสุขภาพ แก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงผู้ป่วยติดเชื้อ เอช.ไอ.วี และผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง การบริการสาธารณสุขเพื่อควบคุมความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และขยายผลการให้บริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัวที่ได้ริเริ่มขึ้น รวมทั้งให้บริการทางการแพทย์สำหรับบุคคลที่ปัญหาสถานะสิทธิ ไม่น้อยกว่า 570,000 คน จัดสรรเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ ไม่น้อยกว่า 387,600 คน ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนและวิกฤต สามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนนอกเครือข่ายได้ทุกแห่ง ภายใต้นโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินของรัฐบาลทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สนับสนุนการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านครั้ง เพิ่มประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการ โดยพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์หลัก/กลาง ในเรื่องนโยบายสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยสนับสนุนให้สามารถขึ้นทะเบียนสัตว์และฉีดวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า 12 ล้านตัว
สวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจฐานราก ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินงานโครงการไทยนิยมยั่งยืน ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำหรับงบประมาณ 2562 มุ่งขยายผลด้านการพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ ลดหนี้สิน โดยวางแนวทางการพัฒนาส่งเสริมอาชีพสำหรับประชาชน ไม่น้อยกว่า 280,000 ครัวเรือน บริหารแผนชุมชนระดับตำบล จำนวน 6,766 ตำบล พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 7,600 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 3,800 กลุ่ม ส่งผลให้ปัญหาหนี้สินลดลง ในขณะที่ศูนย์ดำรงธรรมในระดับจังหวัด 76 จังหวัด และอำเภอ 878 อำเภอ จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ประโยชน์และความพึงพอใจ ผ่านการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การบริการข้อมูลข่าวสารทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง จำนวนเป้าหมายเรื่องเข้าสู่กระบวนการ 2,350,000 เรื่อง และมีการแก้ไขปัญหาและยุติเรื่องได้ จำนวน 1,880,000 เรื่อง สร้างความมั่นคงทางการเงินแก่ผู้มีรายได้น้อยตามแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ ไม่น้อยกว่า 11.4 ล้านคน วงเงิน 40,000 ล้านบาทอย่างต่อเนื่อง
พัฒนาศักยภาพของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างครอบครัวเข้มแข็ง ไม่น้อยกว่า 112,000 คน ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว 40,000 คน ส่งเสริมสนับสนุนให้ครอบครัวเข้าถึงการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อนำไปสู่การสร้างหลักประกันความมั่นคงของครอบครัวที่ครอบคลุมในทุกมิติ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน ราษฎรบนพื้นที่สูง และสมาชิกนิคมสร้างตนเอง ไม่น้อยกว่า 298,200 คน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีและลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม ไม่น้อยกว่า 1,246,700 คน คุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ไม่น้อยกว่า 5,900 คน สนับสนุนการพัฒนาและสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ประชาชนจัดตั้งขึ้น ไม่น้อยกว่า 1,150,000 คน แก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและสิทธิในที่ดินเป็นของตนเองเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 18,000 ครัวเรือน สนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีที่อยู่อาศัย ไม่น้อยกว่า 21,700 ครัวเรือน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสนับสนุนการจัดหาที่ดินทำกินให้กับประชาชนผู้ยากไร้
การพัฒนาตลอดช่วงอายุ กลุ่มเด็กแรกเกิดและปฐมวัย มีการเตรียมความพร้อมครอบครัว ก่อนมีบุตร สนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดจนถึง 3 ปี ในครอบครัวยากจน ไม่น้อยกว่า 463,800 คน กลุ่มเด็กนักเรียนได้รับการสนับสนุนอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) ไม่น้อยกว่า 6 ล้านคน กลุ่มแรงงานได้รับการส่งเสริมและการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 16,200 แห่ง และได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม ไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน ต่างด้าวเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 943,600 คน จัดทำประวัติและออกบัตรประจำตัวแก่บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย 133,000 คน กลุ่มผู้สูงอายุ สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 9.10 ล้านคน มีการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก 15,000 คน และค่าใช้จ่ายจัดงานศพ ผู้สูงอายุตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 12,600 คน เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้กับประชาชน 121,800 คน ส่งเสริมให้มีการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ ไม่น้อยกว่า 700,000 คน สนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น ไม้เท้าช่วยเดิน หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย/ผู้พิการ จากระบบประสาทส่วนกลางในผู้สูงอายุ และการดูแลสุขภาพช่องปาก จำนวน 205,700 คน พัฒนาอาสาสมัครในการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งจัดให้มีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานและครบวงจร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพและการคุ้มครองทางสังคม 118,000 คน และได้เริ่มดำเนินโครงการศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ เพื่อให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศในการศึกษาอบรมด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแบบสหวิชาชีพ เป็นศูนย์กลางในการผลิตงานวิชาการด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนทุกวัยเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดี ไม่น้อยกว่า 3,700 แห่ง สนับสนุนเบี้ยยังชีพความพิการ ไม่น้อยกว่า 1.98 ล้านคน ส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนพิการที่ต้องการทำงาน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ มีแนวโน้มดีขึ้น สนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 55,000 ไร่ จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือเฝ้าระวังทรัพยากรป่าไม้ สร้างจิตสำนึกประชาชน ในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการสร้างป่าไม้ชุมชน การปลูกป่าเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 27,000 ไร่ ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐทั้งในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติแบบบูรณาการ ไม่น้อยกว่า 14,500 ระวาง การจัดเตรียมร่างประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 12 พื้นที่ ฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง จัดหาและกำหนดแหล่งทางทรัพยากรธรณีที่สำคัญของประเทศ บริหารจัดการข้อมูลที่ดินบนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ตลอดจนจัดทำผังเมือง เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลดการเกิดขยะมูลฝอยที่ต้นทางและการนำขยะไปใช้ประโยชน์เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการการจัดเก็บ ขนส่ง การกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตราย มูลฝอยติดเชื้อและกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายให้ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ไม่น้อยกว่า 19.3 ล้านตัน ส่งเสริมให้มีระบบการกำจัดขยะมูลฝอยและการบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้น 24 แห่ง และบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ ตลอดจนควบคุมคุณภาพอากาศในพื้นที่วิกฤตและเขตควบคุมมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ตลอดจนพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทรัพยากรน้ำ มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน จาก 30.3 ล้านไร่ในปี 2557 เป็น 33.1 ล้านไร่ ในปี 2561 สำหรับในปี 2562 จะขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 272,400 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านคน ขยายเขตระบบประปาให้ทุกหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคและบริโภค และประชาชนเข้าถึงระบบประปาเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 362,300 ครัวเรือน โรงเรียนมีระบบน้ำดื่มสะอาดเพิ่มขึ้น 519 แห่ง และขยายเขตระบบประปาเมือง ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน 1,197 แห่ง และปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้มีมาตรฐาน จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับภาคเกษตรและอุตสาหกรรม อนุรักษ์ ฟื้นฟู เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ 345 แห่ง ปฏิบัติการฝนหลวง 230 ล้านไร่ เชื่อมโยงระบบเครือข่าย/ลุ่มน้ำ และก่อสร้างระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนไปยังพื้นที่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 709,000 ไร่ ลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และพื้นที่การเกษตร ไม่น้อยกว่า 418,000 ไร่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 24 ร่องน้ำ และป้องกันตลิ่ง 106,900 เมตร พื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟูระบบนิเวศ 60,000 ไร่ ควบคุมคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศอยู่ในระดับดีขึ้น ป้องกันระดับความเค็มของดินไม่เกินมาตรฐานของการเกษตร ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลการบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างสมดุลทั้ง 25 ลุ่มน้ำ
พลังงาน มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น โดยส่งเสริมการจัดหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สร้างความร่วมมือ ด้านพลังงานทั้งในและต่างประเทศ สร้างเครือข่ายสนับสนุนการจัดหาพลังงานในพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกและอ่าวไทย ตลอดจนขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปพลังงาน เพื่อสร้างการบริหารกิจการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และวางรากฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านไฟฟ้า ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในทุกรูปแบบ ด้วยการกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตพลังงานทดแทน จัดทำมาตรฐานเชื้อเพลิง ชีวมวลที่มีคุณภาพเหมาะสมกับเทคโนโลยี พัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง และส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มมากขึ้น ไม่น้อยกว่า 550 แห่ง
ด้านบริหารจัดการในระดับพื้นที่ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เงินอุดหนุนแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,852 แห่ง วงเงินงบประมาณ 276,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 12,978 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.9 เพื่อให้ประชาชน จำนวน 28.58 ล้านคน ได้รับการบริการสาธารณะในด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง
การจัดสรรงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2562 จะมีความแตกต่างจากที่ผ่านมาซึ่งยังขาดความชัดเจนในทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนามีการดำเนินงานแบบแยกส่วน ส่งผลให้การกระจายงบประมาณในระดับพื้นที่เกิดปัญหาไม่เป็นธรรม ไม่ตอบสนองต่อสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ มีการกระจุกตัวของงบประมาณในบางพื้นที่ การพัฒนาพื้นที่ขาดความต่อเนื่อง ขาดความเชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาระดับชาติ ได้เพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ซึ่งเดิมจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปีละ 18,000 ล้านบาท เป็นปีละกว่า 20,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่ ปี 2558 – 2562 เป็นจำนวน 279,335.7 ล้านบาท โดยเป็นของกลุ่มจังหวัด 90,929.4 ล้านบาท และจังหวัด 188,406.3 ล้านบาท
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยยกระดับเป็นการบูรณาการระดับภาคเป็นครั้งแรก ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกลไก การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ จากเดิมที่มีเฉพาะกลไกระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ได้เพิ่มกลไกระดับภาคเพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาระดับพื้นที่ตั้งแต่หมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด ไปยังระดับภาค โดยใช้ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมีการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับภาคเป็นครั้งแรก เป็นกรอบในการจัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ระดับต่าง ๆ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ดังนั้น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีมิติพื้นที่ ทั้งระดับภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมีความชัดเจน ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมในการกระจายงบประมาณเพื่อการพัฒนาตามศักยภาพและทิศทางการพัฒนาพื้นที่ที่ชัดเจน โดยในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ฉบับนี้ ได้จัดสรรเพิ่มเติมอีก 20,799.3 ล้านบาท
และเมื่อพิจารณาด้านการลงทุนสู่ภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะพบว่าได้กระจายการจัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 411,552.3 ล้านบาท ลงสู่พื้นที่ตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นรายภาค 6 ภาค ปรากฏสัดส่วนดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 27.5 (113,479.6 ล้านบาท) ได้แก่
– ออกแบบ/พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
– บริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย
– จัดระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้เพียงพอและมีคุณภาพ
– ส่งเสริมบุคลากร เรียนรู้นวัตกรรม เพื่อพัฒนาด้านสินค้า/พัฒนา OTOP
ภาคใต้ ร้อยละ 13.8 (56,802.3 ล้านบาท) ได้แก่
– พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอและมีมาตรฐาน
– พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่มีศักยภาพ
– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว
– พัฒนาเมืองภูเก็ต เมืองหาดใหญ่ และเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้เป็นเมืองน่าอยู่และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
– ป้องกันทรัพยากรและรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ
ภาคเหนือ ร้อยละ 19 (78,144.4 ล้านบาท) ได้แก่
– พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อารยธรรมล้านนา และกลุ่มชาติพันธุ์
– พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก และธรรมชาติ
– พัฒนาระบบดูแลและยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุข
– อนุรักษ์และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาคกลาง ร้อยละ 23 (94,562 ล้านบาท) ได้แก่
– โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครและเมืองปริมณฑล
– สนับสนุนการรวบรวม ขนส่ง และจัดจำหน่ายผลผลิตการเกษตร
– พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐาน
– ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ
ภาคตะวันออก ร้อยละ 13.3 (54,658.1 ล้านบาท) ได้แก่
– พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
– พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองสำคัญและเมืองน่าอยู่ภาคตะวันออก
– ส่งเสริมการตลาดผลไม้ภาคตะวันออก
– อนุรักษ์และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก
ภาคใต้ชายแดน ร้อยละ 3.4 (13,905.9 ล้านบาท) ได้แก่
– พัฒนาและส่งเสริมโครงข่ายคมนาคม
– เพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร
– เพิ่มศักยภาพช่องทางการตลาดเพื่อการท่องเที่ยว
– โครงการส่งเสริมการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนทุกช่วงวัย
ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนประชากร พื้นที่ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลในแต่ละภาคอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจระดับภาคเติบโตตามศักยภาพ ประชาชนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ท่านประธานที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามที่รัฐบาลได้แถลงมานั้น เป็นเพียงส่วนสำคัญที่ควรนำมาแถลงให้ทราบ สำหรับรายละเอียดปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณที่ได้นำเสนอต่อท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านแล้ว จากที่กล่าวมารัฐบาลเชื่อมั่นว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่นำเสนอนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันแน่วแน่ของรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปประเทศ แก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญทุกภาคส่วนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ให้สามารถพึ่งตนเอง และเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาปประเทศ บนพื้นฐานของความพอเพียงในระยะยาว และสามารถแข่งขัน ในเวทีโลกได้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบูรณาการเชิงพื้นที่โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นลำดับแรก
กระผมจึงหวังว่าท่านประธานและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติจะให้การสนับสนุนและรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อจะได้ยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป
การเงิน / การคลัง : คำแถลงชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาทของนายกรัฐมนตรีต่อ สนช.
business highlight online : post 7 มิถุนายน 2561 เวลา 14.20 น.