business highlight online : รัฐมนตรีพาณิชย์แถลงผลงานเพียบ ขยายช่องทางสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ดูแลค่าครองชีพ สร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจฐานราก ควบคู่กับการค้าระหว่างประเทศ พร้อมแจงทิศทางการทำงานในอนาคต
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อม นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันแถลงข่าวผลการทำงานช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้บริโภค “กินดี อยู่ดี” รวมทั้ง “เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิต” ผ่านการดำเนินนโยบายที่สำคัญ 3 ประการ คือ
แนวทางที่ 1 Local Economy หรือการพัฒนา “เศรษฐกิจท้องถิ่น/ในประเทศ” เพื่อให้เข้มแข็งจากภายใน (Strength from Within) ที่มีการเติบโตอย่างทั่วถึงและสมดุล (Inclusiveness & Balanced Growth) ด้วย โดยเฉพาะการเสาะหาและบ่มเพาะคนตัวเล็ก และคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงการทำธุรกิจหรือการทำมาค้าขาย
แนวทางที่ 2 New Economy หรือการพัฒนา “เศรษฐกิจยุคใหม่” เพื่อยกระดับและเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่น/ในประเทศ ให้เท่าทันและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก (Upgrade Connect Local to Global) เศรษฐกิจยุคใหม่ที่สำคัญ อาทิ ธุรกิจดิจิทัลและการค้าออนไลน์ ธุรกิจนวัตกรรม ธุรกิจสร้างสรรค์ ธุรกิจบริการยุคใหม่ ธุรกิจสีเขียว และธุรกิจเพื่อสังคม
แนวทางที่ 3 Global Economy หรือการพัฒนา “เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนไปต่างประเทศ” เพื่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก (Connect to the World) โดยเฉพาะตลาดที่มีความสำคัญ อาทิ อาเซียน CLMV จีน อเมริกา ยุโรป และตลาดใหม่
ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงผลงานสำคัญต่างๆ ดังนี้
ด้าน Local Economy หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่มุ่งให้ชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ กินดี-อยู่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น
ได้ดำเนินมาตรการทางการตลาด ภายใต้แนวทางการตลาดนำการผลิต ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น อาทิ
ราคาข้าวเปลือกทุกชนิด (ยกเว้น ข้าวเหนียว) หอมมะลิ 18,700 บาท/ตัน ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นการระบายสต็อกข้าวรัฐบาลจนเกือบหมด การหาตลาดต่างประเทศรองรับผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้น 14.5% กก.ละ 9.5-9.7 บาท ราคาหน้าโรงงานสูงกว่า 10 บาท/กก. โดยกระทรวงฯได้เข้าไปบริหารจัดการการนำเข้า ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ กำหนดสัดส่วนนำเข้าข้าวสาลี : การรับซื้อข้าวโพด
มันสำปะหลัง หัวมันเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 3.15 บาท (ปีก่อน 1.7 บาท) ราคาส่งออกมันเส้น 6% แป้งมัน 4% จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเจรจาขยายตลาดจีน/ตลาดใหม่ มีโครงการต่างๆ เช่น พักชำระหนี้ สร้างมูลค่าเพิ่ม แปรรูปหัวมันเป็นมันเส้น สนับสนุนเครื่องสับมันเพิ่มมูลค่า กำกับดูแลการนำเข้าจากเพื่อนบ้าน
สำหรับผลไม้ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาผลไม้ครบวงจรซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นปี 2561 เพื่อมุ่งให้ไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก ทั้งนี้ ได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมการตลาดทุเรียนเป็นสินค้านำร่อง ภายใต้โครงการ Thailand Amazing Durian and Fruit Festival 2018 ทั่วประเทศ ซึ่งกำลังจะขยายผลต่อเนื่องไปยังสินค้าอื่นๆ อาทิ ลำไย มังคุด
ด้านการดูแลค่าครองชีพและปากท้องของพี่น้องประชาชน กระทรวงพาณิชย์มีผลงานที่สำคัญ อาทิ
โครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชารัฐสวัสดิการที่รัฐบาลมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 11.4 ล้านคน จนถึงขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดหาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 28,705 ร้านค้าทั่วประเทศ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยอดขายกว่า 30,000 ล้านบาท โดยในร้านธงฟ้าประชารัฐมีสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพลดราคา 15-20% เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์การเกษตร ปัจจุบันร้านธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่อง EDC ไปแล้ว 30,000 ร้านค้า ครอบคลุม 7,500 ตำบลทั่วประเทศ ทั้งนี้ จะติดตั้งให้ครบ 4 หมื่นร้านค้า ภายในเดือน มิ.ย. 61 นอกจากนั้น กระทรวงฯได้กำหนดให้มีการเพิ่มสัดส่วนสินค้าชุมชนในร้านค้าธงฟ้าประชารัฐด้วย จากการประเมินที่ผ่านมา พบว่า รายได้ของผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มสินค้า ปัจจุบัน “มุมสินค้าชุมชน” นำร่องและจะขยายผลต่อไป
การจัดกิจกรรมธงฟ้าราคาประหยัด ลด 20-40% รวม 1,800 ครั้งทั่วประเทศ ลดค่าครองชีพประชาชนจำนวน 1.3 ล้านคน (ลดค่าครองชีพได้จำนวน 113 ล้านบาท มูลค่าจำหน่าย 300 ล้านบาท)
การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นทุกจังหวัดให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ผ่านการเพิ่มและขยายช่องทางการตลาด กระทรวงฯได้ส่งเสริมการจัดตั้ง MOC BIZ Club ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกกว่า 1 หมื่นรายทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยคนตัวเล็กร่วมกับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศที่จะทำงานเชิงรุกด้านการตลาดให้มากขึ้น
โครงการสร้างธุรกิจและสร้างงานให้แก่ผู้มีรายได้น้อย อาทิ โครงการแฟรนไชส์สำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยนำเสนอแฟรนไชส์ที่มีมูลค่า 10,000 – 50,000 บาท ซึ่งขณะนี้มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แสดงความสนใจผ่านการสำรวจภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวนประมาณ 6,219 ราย รวมทั้งได้เริ่มอบรมการสร้างอาชีพและธุรกิจให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย และแม่บ้านมืออาชีพ
ด้าน New Economy
กระทรวงฯได้ยกระดับธุรกิจไทยและเชื่อมโลกด้วยเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) โดยเพิ่มช่องทางการค้าให้สอดคล้องกับกระแสเศรษฐกิจใหม่ การยกระดับและเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยไปสู่เศรษฐกิจโลกให้สามารถแข่งขันด้วยสินค้าและบริการใหม่ๆที่มีมูลค่าเพิ่มสูงบนช่องทางการค้าใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะ e-Commerce ซึ่งเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง โดยมีผลงานสำคัญ ดังนี้
e-Commerce
สร้างแพลตฟอร์ม National e-Marketplace ที่เป็นศูนย์กลางการค้าออนไลน์ของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทยผ่าน “ไทยเทรดดอทคอม” (Thaitrade.com) ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1) Thaitrade.com = B2B e-Marketplace ขายส่งระหว่างประเทศ
2) Thaitrade SOOK (Small Order Ok) = B2C e-Marketplace ขายปลีกระหว่างประเทศ
3) Thaitrade Shop ช้อปครบจบในคลิกเดียว = B2C e-Marketplace ซื้อขายภายในประเทศ ที่จะช่วยให้ผู้ค้ารายย่อยนำสินค้ามาขายให้แก่ผู้บริโภค ดึงธนาคาร และโลจิสติกส์เข้ามาช่วยเรื่องการชำระเงินและจัดส่งสินค้า สำหรับรายที่เข้มแข็งจะผลักดันสู่การส่งออกต่อไป ปัจจุบัน Thaitrade มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก 25,000 ราย มีผู้ซื้อจากทั่วโลก 1.7 แสนราย จำนวนสินค้า 2.5 แสนรายการ และมีมูลค่าการซื้อขายแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท
เชื่อมโยงสินค้าเกษตรและอื่นๆ เข้าไปจำหน่ายยังเว็บไซต์ Tmall.com และ Platform อื่นๆ
1) ส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้และอาหารไทยในTmall.com (เครือ Alibaba ลูกค้ากว่า 650 ล้านคน) โดยสามารถจำหน่ายทุเรียนได้ 80,000 ลูก ภายใน 1 นาที และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้า 130,000 ลูก รวมมูลค่า 70 ล้านบาท โดยมีมูลค่าจำหน่ายสินค้าเกษตรและอื่นๆ 200 ล้านบาท (สินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว ทุเรียน ที่จำหน่ายไปแล้ว ประมาณ 80 ล้านบาท สินค้าอื่นๆที่ไม่ใช่สินค้าเกษตร สค. ช่วย business matching ประมาณ 100 ล้านบาท) ส่วนลำไยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าคำสั่งซื้อประมาณ 200 ล้านบาท (ประมาณ 8,000-10,000 ตัน) ซึ่งการเชื่อมโยงกับ Platform ระดับโลกนี้ จะช่วยเปิดตลาดให้กับสินค้าไทย เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ขยาย Demand ส่งผลดีต่อการยกระดับราคาสินค้าไทย
2) ประสบความสำเร็จในการเสาะหาและผลักดันสินค้าและบริการดีๆ ทั่วประเทศไทยเข้าไปยัง “ของดีทั่วไทย.คอม” ซึ่งจะเชื่อมโยงกับ Thaitrade.com ต่อไป
New Economy Academy
กระทรวงฯได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพรองรับและทันต่อกระแสการค้า นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะนี้ได้พัฒนาผู้ประกอบการแล้วกว่า 77,000 ราย ผ่านการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ และหลักสูตรออนไลน์ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงจัดกิจกรรมจับคู่ผู้ประกอบธุรกิจ Start up เพื่อยกระดับและต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และหาตลาดให้ Start up ไปพร้อมกัน
ด้าน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ได้กล่าวเสริมในส่วนของผลงานด้านการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้ การส่งออกเริ่มฟื้นตัว โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.5 (มูลค่ารวม 81,780 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี มาตรการสำคัญที่ดำเนินการ อาทิ
1.เร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก ทั้งในรูปแบบตลาด Physical และ Digital (thaitrade.com) ทั้งตลาดเฉพาะกลุ่ม และตลาดเมืองรอง เน้นการส่งเสริมสินค้ารายคลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายได้รับการส่งเสริมไปขยายตลาด 2,850 ราย เกิดมูลค่าการสั่งซื้อประมาณ 47,000 ล้านบาท ได้แก่ กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ และกลุ่มเกษตรและอาหาร และในธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์/บรรจุภัณฑ์ สุขภาพ การบริหารการจัดงาน โลจิสติกส์การค้า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ดิจิทัล และครีเอทีฟ ฯลฯ ทั้งนี้ มูลค่าการเจรจาซื้อขายในงาน THAIFEX – World of Food ASIA 2018 รวม 11,000 ล้านบาท
2.ผลักดันให้สหรัฐฯปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ให้ดีขึ้นจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) หลังจากที่ไทยอยู่ในบัญชี PWL มาเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 ส่งผลดีต่อไทยในด้านภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี นอกจากนี้ ผลการจัดอันดับด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยดีขึ้นมาก ในด้านจำนวนสิทธิบัตรที่ถูกยื่นคำขอ และจำนวนสิทธิบัตรที่มีผลบังคับใช้
3.เจรจาและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ (Strategic partnership) เพื่อขยายความร่วมมือ และแก้ไขหรือลดอุปสรรคทางการค้าผ่านการเจรจาทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาค ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) จำนวน 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศคู่ค้า ครอบคลุมมูลค่าการค้า 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของมูลค่าการค้ารวมของประเทศ ทั้งนี้ FTA ที่มีมูลค่าการค้าและส่งออกปี 2560 สูงสุด 5 อันดับ นับตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีต่างๆมีผลบังคับใช้ ได้แก่ 1) AFTA ขยายตัว 707% (59.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) FTA ไทย-อินเดีย ขยายตัว 406% (6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) FTA อาเซียน-จีน ขยายตัว 262% (29.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ขยายตัว 194% (1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) 5) FTA ไทย-ออสเตรเลีย ขยายตัว 132% (10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)
4.เชื่อมโยงไทยกับภูมิภาค CLMV โดยสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (YEN-D Program) ได้ดำเนินโครงการแล้ว 4 รุ่น สามารถสร้างสมาชิกเครือข่ายได้แล้ว 1,100 คน เกิดมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันแล้วกว่า 2,800 ล้านบาท นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน CLMVT Forum 2018 : Taking-Off Through Technology ในเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นงานประชุมสำหรับผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ผู้นำทางธุรกิจ นักวิชาการ แห่งเดียวในภูมิภาค CLMVT เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนร่วมกันในภูมิภาค CLMVT
5.การเตรียมการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 โดยจะมุ่งผลักดันประเด็นการค้าต่างๆ อาทิ การพัฒนาตลาดออนไลน์ (e-Commerce) การพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งขยายความร่วมมือกับ HK จะจัดตั้ง Headquarter (HKETO) ในไทยในต้นปีหน้า เป็น Gateway สู่ ASEAN และจีน
ส่วน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงฯได้ปรับภารกิจของกระทรวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน และการปฏิบัติภารกิจภายใต้นโยบายของรัฐบาล ผลงานที่สำคัญ อาทิ
1.การปรับเปลี่ยนบทบาทและแนวคิดในการทำงาน เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ อาทิ
เปลี่ยนบทบาทจากผู้กำกับดูแล (Regulator) เป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวก (Facilitator & Promoter) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาภาคธุรกิจให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น
ปรับแนวความคิดโดยการนำมาตรการส่งเสริมการใช้ตลาดเป็นตัวนำ (Demand Driven) ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด
ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) มุ่งเน้นการใช้ระบบเทคโนโลยีนวัตกรรม การบริการและความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ ยกระดับการค้าและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยสู่สากล
2.บทบาทหน้าที่ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
การบริหารงานในส่วนภูมิภาคแบบ Mini MOC (พาณิชย์ภาค) เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
การเป็นตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ในระดับภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าในระดับท้องถิ่น ส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคได้รวดเร็ว ทันเวลา และสร้างรายได้ให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้น
3.การอำนวยความสะดวกทางการค้า
การพัฒนาการให้บริการต่างๆ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) เช่น การส่งงบการเงินออนไลน์ (e-Filing) การจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ (e-Registration) ฯลฯ ซึ่งจากการดำเนินการเหล่านี้จะส่งผลให้การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจด้านการเริ่มต้นธุรกิจของไทย (Starting Business) ที่กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพหลัก มีอันดับดีขึ้นจากอันดับ 78 เป็น 36 ในปี 2018
การให้บริการที่สะดวกและรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพทำให้ระบบจดทะเบียนมีความโปร่งใส ช่วยลดข้อขัดแย้ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ และการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
4.กระทรวงพาณิชย์สู่ความเป็นองค์กรดิจิทัล (SMART MINISTRY)
การพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมุ่งเน้นนำเสนอรูปแบบและบริการที่ทันสมัยหลากหลายช่องทาง
การส่งเสริมและพัฒนาการใช้ช่องทางการค้า E-Commerce
การใช้ Digital Marketing ทั้งของไทย (Thaitrade.com) เชื่อมโยงกับ Global และ Local Platform เพื่อขยายลู่ทางตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ
ทิศทางการทำงานในอนาคตของกระทรวงพาณิชย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงทิศทางการทำงานในช่วงต่อไปของกระทรวงฯ ดังนี้
กระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่ (New MOC) จะขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ด้วยแนวคิด “ตลาดนำผลิต” (Demand Driven) และ “เน้นคุณค่ามากกว่าปริมาณ” (Value Creation) โดยปรับบทบาทให้ “คล่องตัว ทันสมัย ปราดเปรียว รองรับการเปลี่ยนแปลง” สอดรับการเศรษฐกิจยุคใหม่มากขึ้น ขณะที่กระทรวงฯยังคงดูแลเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (Traditional Business) ให้มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง โดยเน้นการเป็น “ผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวก” (Facilitator & Promoter) ใน “เชิงรุก” มากยิ่งขึ้น
แผนงานสำคัญในอนาคต แบ่งตามนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.Local Economy หรือการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการเติบโตอย่างสมดุล (Balanced Growth) อาทิ ตลาดชุมชน ร้านธงฟ้าประชารัฐ (ปัจจุบัน 28,705 ร้านค้า จะ “ขยายเป็น 100,000 ร้านค้า” ภายใน 3 ปี) รวมทั้งดูแลค่าครองชีพและยกระดับราคาสินค้าเกษตรด้วยแนวคิด “ตลาดนำผลิตและสร้างสรรค์คุณค่า” รวมทั้งส่งเสริม “บ่มเพาะคนตัวเล็กคนตัวเล็กและคนด้อยโอกาส” ให้เข้าถึงการทำธุรกิจหรือการทำมาค้าขายให้มากขึ้น เช่น การสนับสนุนให้สามารถใช้ QR Code ในร้านค้าที่หลากหลาย และภายในปี 2562 ตั้งเป้าให้ “MOC Biz Club ช่วยยกระดับ Micro SMEs จังหวัดละ 100 ราย” ซึ่งจะส่งผลให้มี Micro SMEs ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น 7,700 ราย ทั่วประเทศ สำหรับ Franchise สร้างอาชีพ ด้วยการจับคู่ Franchise กับผู้มีรายได้น้อย ตั้งเป้าสร้างอาชีพได้ 20,000 รายภายในปีนี้
2.New Economy หรือการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ อาทิ การค้าออนไลน์ ด้วยการยกระดับ Thaitrade.com ซึ่งเป็น National E-Marketplace Platform ของไทยให้ก้าวสู่การเป็น Platform ชั้นนำระดับสากล โดยมี “เป้าหมายการค้าออนไลน์ผ่าน Thaitrade.com ขยายตัวเป็น 1 หมื่นล้านบาท” ภายใน 3 ปี จากปัจจุบัน 5 พันล้านบาท รวมทั้ง การผลักดัน Logistic Hub ใน EEC การพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่หรือนักรบเศรษฐกิจใหม่ การพัฒนาสินค้าและบริการยุคใหม่ เช่น สินค้าเกษตรนวัตกรรม ธุรกิจบริการนวัตกรรม เป็นต้น การพัฒนา Big Data & Big Data Analysis เศรษฐกิจการค้า และการเชื่อมโยง Local to Global ผ่าน E-Commerce
3.Global Economy หรือการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาทิ การเปิดตลาดใหม่ๆ ทั้งการเจรจาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเน้น Strategic Partnership และ City Focus มากขึ้น รวมทั้ง ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ และ ส่งเสริม Local to Global, Connect to the World โดยมี “เป้าส่งออกปี 61 เติบโต 8% เป็นอย่างน้อย” สำหรับครัวไทยสู่ครัวโลก อาทิ ร้านอาหาร Thai Select จะทบทวนคุณภาพร้าน Thai Select ในต่างประเทศ ขยายร้าน Thai Select ในประเทศไทยต่อยอดสู่ต่างประเทศ รวมทั้งขยายสินค้าที่ได้ตรา Thai Select Product ให้เพิ่มขึ้น
4.การปฏิรูปกระทรวงฯ เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ ส่งเสริมอำนวยความสะดวกทางการค้า (EoDB) และ Smart MOC ให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายอนาคตให้เป็น “E-Service ทั้งระบบ” ภายในปี 62 และสนับสนุนให้ “EoDB ติด TOP 20” ภายใน 3 ปี (จากอันดับที่ 26 ในปัจจุบัน) รวมทั้ง ยกระดับและปรับภารกิจกรม โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างเน้น e-Commerce กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเน้น Service (ธุรกิจบริการ)
ประการสุดท้าย กระทรวงฯให้ความสำคัญในการพัฒนา Big Data เพื่อใช้พลังข้อมูลในการบริหารนโยบายและขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญด้าน Big data ในการนำเทคโนโลยี Big Data มาขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญนั้น เริ่มตั้งแต่เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทำธุรกิจ ขยายโอกาสการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนการค้าให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับและประชาชนทั่วไป โดยในระยะแรกได้ดำเนินการใน 3 เรื่องสำคัญ มุ่งหวังให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในเดือนกรกฎาคมศกนี้ ดังนี้
สร้างอาชีพรายพื้นที่ ผลักดันเศรษฐกิจฐานราก (Business Opportunity)
จัดทำข้อมูลเพื่อแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจในแต่ละพื้นที่รายจังหวัด
ใช้ข้อมูล GPPรายจังหวัด จำนวนประชากร ตัวเลขการจัดตั้ง/จดเลิกธุรกิจ และงบการเงินของธุรกิจ มาวิเคราะห์โอกาสในการทำธุรกิจ
ทำให้เห็นแนวโน้มของสาขาธุรกิจที่กำลังเป็นดาวรุ่งหรือดาวร่วงในแต่ละจังหวัด รวมถึงอัตราการอยู่รอด และระดับการผูกขาดของแต่ละธุรกิจ
สามารถเสนอแนะธุรกิจที่เหมาะสมตามพื้นฐานของแต่ละคน สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจในแต่ละพื้นที่ โดยคัดกรองจากข้อมูล เช่น พื้นที่ การศึกษา ประสบการณ์ และเงินลงทุน เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจ
สำหรับคนที่ไม่มีความถนัดเฉพาะด้าน ระบบก็สามารถแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการจัดการร้านค้าที่เป็นมาตรฐาน และง่ายต่อการเริ่มประกอบอาชีพตามความเหมาะสมของแต่ละคนได้ เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม บริการด้านการศึกษา SPA Car Care เป็นต้น
ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นข้อมูลในการเลือกขยายกิจการไปในจังหวัดที่ธุรกิจของตนเองมีโอกาสมาก
ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย (International Dashboard) บูรณาการข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศของทุกหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำมาช่วยในการตัดสินใจและขับเคลื่อนนโยบายการค้าให้บรรลุตามเป้าหมาย สามารถเจาะลึกในมิติรายสินค้า รายประเทศ การใช้สิทธิ FTAs และการค้าชายแดน รวมไปถึงเจาะลึกถึงระดับรายผู้ประกอบการ เพื่อให้การขับเคลื่อนการส่งออกได้อย่างตรงจุด ทันเวลา
สนับสนุนองค์ความรู้ SMEs 360๐
บูรณาการฐานข้อมูลผู้ประกอบการจากทุกกรม เพื่อเชื่อมโยงให้เป็นหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการของกระทรวง
สามารถติดตามผลการดำเนินธุรกิจ และประเมินศักยภาพความพร้อมเพื่อต่อยอดและพัฒนาผู้ประกอบการแต่ละรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพิ่มช่องทางการสื่อสารโดยตรงให้กับผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงถึงการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดของกระทรวงพาณิชย์ เช่น งานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและในต่างประเทศ เป็นต้น
ผลงานเยอะมาก! “สนธิรัตน์” แถลงผลการทำงาน 6 เดือนกระทรวงพาณิชย์
business highlight online : post 18 มิถุนายน 2561 เวลา 11.22 น.