business highlight online : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการเข้าร่วมความตกลง CPTPP
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงข่าวที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย “25 องค์กรร้องยุติเจรจาค้าเสรีอาเซียน +6 เข้า CPTPP ชี้กระทบสิทธิ-วิถีชีวิต ย้ำต้องไม่ใช่ยุครัฐประหาร”
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ขอเรียนข้อเท็จจริง ดังนี้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้เตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆในเรื่องนี้อย่างรอบด้าน โดยได้จัดตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวม 25 หน่วยงาน ร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งได้มีการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 มีมติมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด และจัดหารือรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในประเด็นต่างๆอย่างรอบคอบ เพื่อรวบรวมความเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561
ขณะเดียวกัน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดจ้างสถาบันวิจัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก ที่มีความเป็นกลาง ดำเนินการศึกษาผลประโยชน์ ผลกระทบ ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม CPTPP เพิ่มเติมจากที่เคยจ้างศึกษาไว้แล้วเมื่อครั้งยังเป็นความตกลง TPP ซึ่งมีสหรัฐฯ ร่วมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคของไทย ในช่วงเดือนสิงหาคม- กันยายน 2561 โดยจะเชิญผู้แทนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมขึ้นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ ข้อกังวล มาตรการเยียวยาที่ต้องการจากรัฐบาลหากไทยเข้าร่วม CPTPP ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะรวบรวมความเห็นของทุกภาคส่วน เป็นข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการตัดสินใจในเรื่องนี้ เนื่องจากไทยยังมีเวลาในการพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะกว่าความตกลง CPTPP จะมีผลใช้บังคับ และเปิดรับสมาชิกใหม่ คาดว่าจะประมาณช่วงต้นปี 2562
ในส่วนของความตกลง RCEP ก็เช่นเดียวกัน นับตั้งแต่เปิดการเจรจาเมื่อปี 2556 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดให้มีการประชุมหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งก่อนและหลังการเจรจาทุกครั้ง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 กรมฯก็ได้จัดประชุมโดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เข้าร่วมหารือเพื่อกำหนดท่าทีไทย และติดตามความคืบหน้าของการเจรจาอย่างต่อเนื่อง
ขอย้ำว่ากระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการดำเนินกระบวนการเจรจา FTA ที่โปร่งใส และเปิดให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมให้ความเห็น และติดตามความคืบหน้าของการเจรจาอย่างใกล้ชิด
ในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญา จะให้ความสำคัญกับหลักการพื้นฐานของความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (TRIPs) รวมทั้งความยืดหยุ่นที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับ โดยเฉพาะในส่วนของการสาธารณสุข การเข้าถึงยาของประชาชน วิถีชีวิต วัฒนธรรมของเกษตรกร ตลอดจนสิทธิพลเมือง และสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมมีความกังวล กระทรวงพาณิชย์จะจัดให้มีการหารือ รับฟังความเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็นกับหน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงความพร้อม กรอบกฎหมาย ระดับการพัฒนา และผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
ในส่วนของกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor State Dispute Settlement: ISDS) ที่ภาคประชาสังคมเห็นว่า ข้อบทการคุ้มครองการลงทุนของ CPTPP จะต้องไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐ ในมาตรการที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข มาตรการควบคุมยาสูบและแอลกอฮอล์ สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงความรู้ และความมั่นคงทางสังคม เพื่อให้รัฐสามารถกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมได้นั้น ได้รับการยืนยันจากสมาชิก CPTPP ว่ารัฐบาลของสมาชิก CPTPP ยังคงสามารถดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์สาธารณะได้ต่อไป
สำหรับในส่วนของการเจรจา RCEP ไม่มีประเทศใดผลักดันเรื่องนี้ในการเจรจา โดยรัฐบาลยังคงสามารถดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์สาธารณะได้ตามที่เห็นสมควรเช่นกัน
จากการศึกษาข้อบทของความตกลง CPTPP ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และ CPTPP มีข้อบทที่ยืนยันหลักการ และให้ความสำคัญกับปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชน รวมถึงการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ในเรื่องที่ภาคประชาสังคมมีความกังวลได้ สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดบริการของภาครัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ และพันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพร้อมรับฟัง และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ และมาตรการเยียวยาอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายประกอบการตัดสินใจต่อไป
สำหรับการเจรจา RCEP นั้น ไม่มีการหยิบยกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในการเจรจา และในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่ประชุม RCEP ตกลงให้ประเด็นนี้เป็นเพียงความร่วมมือระหว่างสมาชิกเท่านั้น
ในการจัดทำหนังสือสัญญาที่เกี่ยวกับการค้าเสรี หรือ FTA ที่จะมีผลผูกพันประเทศไทยในอนาคต กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยในขณะนี้ เรื่อง CPTPP เป็นเพียงการแสดงความสนใจของไทยเพื่อขอรับทราบขั้นตอน และสิ่งที่จะต้องดำเนินการ จากประเทศสมาชิก CPTPP หากไทยประสงค์จะยื่นขอเข้าเป็นสมาชิก โดยจากการหารือกับสมาชิก CPTPP เช่น ญี่ปุ่น ได้รับแจ้งว่า การเปิดรับสมาชิกใหม่จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่สมาชิก CPTPP อย่างน้อย 6 ประเทศให้สัตยาบัน เพื่อให้ความตกลง CPTPP มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นประมาณช่วงเดือนมกราคม 2562 เป็นอย่างเร็ว ทำให้ขณะนี้ไทยยังมีเวลาศึกษา หารือผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมอย่างรอบด้าน ตลอดจนดำเนินกระบวนภายในที่จำเป็น
สำหรับการเจรจาความตกลง RCEP ไทยได้รับความเห็นชอบกรอบการเจรจา “ความตกลงการค้าเสรีของไทยภายใต้กรอบการเจรจาอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่ม” จากรัฐสภา เมื่อปี 2552 และเมื่อการเจรจาสามารถหาข้อสรุปได้ กระทรวงพาณิชย์ก็จะดำเนินการเสนอขอความเห็นชอบการลงนามจากรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้
เศรษฐกิจต่างประเทศ : กรมเจรจาฯเตรียมจัดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ส.ค.- ก.ย.นี้
business highlight online : post 30 กรกฎาคม 2561 เวลา 21.52 น.