“สมคิด” ปรับแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจใหม่ หันกลับมาสร้างเศรษฐกิจชุมชนโตยั่งยืน

1229
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

business highlight online : “สมคิด” ปรับแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจใหม่ หันหลังกลับสร้างเศรษฐกิจชุมชน-ฐานรากเติบโตยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2562 ที่ห้องรอยัล จูบิลลี่ อิมแพค เมืองทองธานี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน พร้อมกับเปิดตัว โครงการ “ประชารัฐสร้างไทย” โดยมีการให้นโยบายจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการการทรวงพลังงาน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ซึ่งประกอบด้วยชุมชนเมืองและชุมชนชนบท เพื่อให้เกิดความชัดเจนการทำงานร่วมกันในการกำหนดเป้าหมาย แผนงาน โครงการและงบประมาณเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 2,400 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินมาตรการนี้ไม่ใช่การหาเสียงของรัฐบาล แต่ต้องการปูพื้นฐานเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งตั้งแต่ระดับฐานราก ซึ่งความยากจนและความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นมานาน ไม่สามารถโทษรัฐบาลชุดไหนได้ แต่เป็นเรื่องที่ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาต้องเผชิญ เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรมที่พึ่งพาธรรมชาติในการเพาะปลูก และพึ่งพิงตลาดโลกเป็นหลัก หาก 2 สิ่งนี้เกิดปัญหา ประเทศเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบและต้องกู้หนี้เพื่อรักษาชีวิตและเป็นวงจรแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

นายสมคิดกล่าวต่อว่า การทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจะทำให้เศรษฐกิจที่เติบโตกระจายไปยังผู้มีรายได้น้อยระดับฐานรากเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่จีดีพีเติบโตมาจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งการแก้ไขอย่างจริงจัง

นายสมคิด กล่าวว่า ในส่วนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้น ไม่ได้เน้นการให้เงิน แต่เป็นการสนับสนุนการให้ชุมชนมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาชุมชนของตนเอง ก่อนได้รับเงินสินเชื่อเพื่อนำไปต่อยอด โดยชุมชนจะต้องมีผู้นำ เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ พร้อมที่จะผลักดันให้เกษตรกรระดับฐานรากมีการพัฒนาขึ้นไปพร้อมๆกัน โดยปัจจุบันธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ได้ถึง 3 แสนรายในระยะเวลา 3 ปี

นายอุตตม สาวนายน

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน เนื่องจากจะต้องให้กระทรวงอื่นที่อยู่ภายใต้การดูแลของพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาร่วมมือทำงานด้วย โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะมีการประชุมเพื่อจัดทำแผนงาน ก่อนสรุปงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมให้ได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ขณะนี้กระทรวงการคลังจะตั้งคณะกรรมการย่อย เป็นคณะทำงานเพื่อสานต่อและติดตามงานจากโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเตรียมใช้มาตรการทางการคลังจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก นอกเหนือจากการใช้เครือข่ายจากหน่วยงานภายในกระทรวงการคลังร่วมบูรณาการในครั้งนี้ ทั้งนี้เครือข่ายกระทรวงการคลังนอกเหนือจากธนาคารรัฐ เช่น กรมธนารักษ์ได้เตรียมตรวจแผนที่ราชพัสดุ เพื่อนำพื้นที่ราชพัสดุที่ว่างเปล่ามาเป็นแหล่งค้าขายให้กับชุมชน โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

นายอุตตมกล่าวอีกว่า เวลานี้กระทรวงการคลังกำลังพัฒนาระบบบิ๊กดาต้าเพื่อบูรณาการข้อมูลนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะข้อมูลจากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกว่า 14 ล้านคน จะทำให้รู้ข้อมูลด้านการใช้จ่ายทั้งจุดใช้จ่าย สินค้าที่ซื้อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างวิสาหกิจชุมชน การสร้างตลาดการค้าชุมชนและการสร้างอำนาจการต่อรองในการซื้อสินค้าต่างๆ และยังทำให้เรารู้ข้อมูลด้านแรงงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาชีพอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่สำรวจฐานรากพบว่า 40% ของผู้ถูกสำรวจระบุว่า ความเป็นอยู่โดยรวมไม่ดีขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังมี นี่คือสิ่งที่เรากำลังเผชิญ ฉะนั้น เราต้องเลือกโมเดลการพัฒนาที่เป็นโมเดลใหม่ๆ คือ เน้นลงทุนไปที่ชุมชน เพื่อสร้างให้คนระดับฐานรากอยู่ดีกินดี ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการเติบโตของจีดีพีประเทศต่อไป

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

ขณะที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า นโยบายพลังงานเพื่อให้ทุกคนมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ประชาชนซึ่งเคยเป็นผู้ซื้อพลังงาน ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน แก๊สหุงต้ม พลิกสู่มิติใหม่โดยชุมชนเป็นเจ้าของและผลิตพลังงานได้เอง สร้างโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็กใช้วัตถุดิบทางการเกษตรจากพลังงานชีวภาพ ชีวมวล แหล่งน้ำขนาดเล็กและแสงแดด มาผลิตใช้เองได้ เปลี่ยนทิศทางจากเดิมที่ผูกขาดอยู่แต่องค์กรขนาดใหญ่ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายจะต้องอาศัยเครือข่ายต่างๆ อาทิ ธ.ก.ส. และกองทุนหมู่บ้าน ช่วยส่งเสริมพลังงานภาคเกษตรในพื้นที่ หลังจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้ามาสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตเพื่อให้เกิดความช่วยเหลือแบบครบวงจร

ส่วนภาคขนส่ง นโยบายพลังงานจะช่วยแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันของประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาตกค้างมากว่า 30-40 ปี ซึ่งกำลังปรับโครงสร้างน้ำมันไบโอดีเซลมาตรฐาน เปลี่ยน B7 เป็น B10 เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 นี้ ซึ่งจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์ม (ซีพีโอ) 4 แสนตันให้หมดไป เมื่อโมเดลนี้สำเร็จจะนำไปสู่การแก้ปัญหามันสำปะหลังและอ้อยในอนาคตได้

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ตนพร้อมที่จะใช้เครือข่ายด้านพลังงานทั้งหมดมาช่วยเศรษฐกิจฐานราก เช่น ปั๊มน้ำมัน ปตท.ที่ในอนาคตจะทำให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสินค้าชุมชน ซึ่งขณะนี้มีโครงการ “ไทยเด็ด” ซึ่งเป็นตลาดที่นำสินค้าเด่นของชาวบ้านมาจำหน่ายในพื้นที่สถานีบริการฯ เหมือนญี่ปุ่นที่มีโรดไซด์สเตชั่น ขายปลา โมจิ ของฝากท้องถิ่น

“ผมได้ให้นโยบายไปแล้วว่า ต่อไปนี้สถานีบริการน้ำมันทั้ง ปตท.และบางจาก จะเป็นศูนย์ปุ๋ยสั่งตัดเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและชุมชนมากขึ้น ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความท้าทายขององค์กรระดับโลก”

“กอบศักดิ์” ยอมรับก้าวพลาด ให้ความสำคัญ “อีอีซี” มากกว่าประชาชน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2562 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมประจำปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยยอมรับว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพลาดพลั้ง เพราะให้ความสำคัญกับโครงการใหญ่ๆที่จับต้องได้ง่ายกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ ให้ประชาชนสำคัญเทียบเท่าโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี หากทำได้ จะเป็นจุดเปลี่ยนของไทย ที่นำมาสู่การพัฒนาอย่างที่หลายคนต้องการ คือ ความสมดุลของการพัฒนา

“มันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่พัฒนาแล้วเป็นตานขโมย อีอีซีใหญ่ แต่พี่น้องประชาชนผอมแห้งแรงน้อย เราต้องทำให้อุดมสมบูรณ์ อีอีซีก็โต พี่น้องประชาชนก็แข็งแรงเหมือนกันถ้วนหน้า”

นายกอบศักดิ์ ยังเปรียบเทียบโครงการอีอีซีกับขบวนรถไฟ ที่ต้องทำให้ทั้งหัวรถจักรและโบกี้แข็งแรง จะสามารถขับเคลื่อนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่หากทำแต่หัวรถจักร โดยทิ้งโบกี้ไว้ข้างหลัง ก็น่าหนักใจ ต้องให้โบกี้ที่เปรียบเหมือนคนเล็กคนน้อยในชนบท ไปด้วยกันอย่างคู่ขนาน ให้ความสำคัญกับประชาชนไม่น้อยไปกว่าโครงการอีอีซี ซึ่งหมายถึง การให้ประชาชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ให้อำนาจกลับไปอยู่ที่มือของประชาชน โดยยกตัวอย่างกรณี พ.ร.บ.ป่าชุมชน ให้พื้นที่ป่าได้รับการดูแลร่วมกัน ระหว่างรัฐกับภาคประชาชน เพียงแต่รัฐบาลต้องปลดล็อก จึงจะเดินหน้าไปได้

“ถ้าเรามีแต่ตึก พี่น้องประชาชนมีแต่หนี้ สูญเสียที่ดิน ลำบาก เสียอาชีพ ฆ่าตัวตาย ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง บ้านเมืองที่น่าอยู่ คือ บ้านเมืองที่พี่น้องประชาชน แต่ละคนมีความเข้มแข็ง เลี้ยงตัวเองได้ ยิ้มได้ และสามารถคิดอะไรดีๆให้ประเทศได้ นี่คือทางที่เรากำลังจะไป คือ ให้พี่น้องประชาชนลุกยืนได้ โดยอาศัยแรงสนับสนุนจากรัฐบาล”

เศรษฐกิจฐานราก / ชุมชน : “สมคิด” ปรับแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจใหม่ หันกลับมาสร้างเศรษฐกิจชุมชนโตยั่งยืน

business highlight online : post 22 กันยายน 2562 เวลา 22.10 น.