“สุริยะ”ลงใต้ดูความก้าวหน้า2นิคม “รับเบอร์ซิตี้-นิคมฯสงขลา” ฐานผลิตยางพารา

1323

business highlight online : “สุริยะ” ลงพื้นที่ภาคใต้เช็คความพร้อม 2 นิคมฯดึงลงทุนปี’63 มั่นใจ  “รับเบอร์ซิตี้-นิคมฯสงขลา” ฐานผลิตยางพารา

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ นายเอกภัทร วังสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ลงพื้นที่เยี่ยมชมนิคมยางพารา (Ruber City) บางกล่ำ และนิคมอุตสาหกรรมสงขลาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา (SEZ) โดยมี นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ระยะที่ 2/2 และระยะที่ 3 ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ บนพื้นที่รวม 1,248 ไร่ และการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสงขลาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา (SEZ) ระยะที่ 1 จำนวน 629 ไร่ โดยทั้งสองโครงการถือเป็นพื้นที่การลงทุนที่มีศักยภาพ พร้อมรองรับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราและคลัสเตอร์ยาง รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อการส่งออกที่อยู่ในธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการ เช่น คลังสินค้า เป็นต้น ซึ่งการพัฒนานิคมฯทั้งสองแห่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น

นิคมฯ รับเบอร์ซิตี้ ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม 629 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 พื้นที่สาธารณูปโภค 619 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 49 และพื้นที่โครงการโรงงานมาตรฐานให้เช่า 25 ไร่ สำหรับรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้ามาประกอบกิจการเต็มพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยประกอบกิจการประเภท ยางรองส้นเท้า รองเท้าแตะ กรวยยางจราจร จอกนาโน ที่รองแก้วน้ำ ถุงมือ หมอนยางพารา ยางคอมปาวด์ และผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่จะช่วยรองรับผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ ก่อให้เกิดการยกระดับผลผลิตราคายางให้สูงขึ้น

ส่วนความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ระยะที่ 1 บนพื้นที่ 629 ไร่ ปัจจุบันได้พัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามเป้าหมายในปี 2563 โดยขณะนี้มีนักลงทุนจากไทย จีน มาเลเซียจำนวนหลายรายเริ่มเข้ามาติดต่อและแสดงความสนใจ เพื่อที่จะตัดสินใจเข้ามาใช้พื้นที่เป็นฐานการผลิต เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเส้นทางการเชื่อมโยงระบบขนส่งที่ครบวงจร ที่สามารถส่งสินค้าผ่านด่านที่สำคัญของภาคใต้ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดที่อยู่ใกล้ท่าเรือปีนัง และท่าเรือกลางของมาเลเซีย

นอกจากนั้นในอนาคตจะมีการพัฒนาเส้นทางมอเตอร์เวย์ ที่สามารถเชื่อมโยงนิคมฯยางพารา (Rubber City) ที่จะช่วยสร้างระบบคลัสเตอร์ยางพาราที่มีความสมบูรณ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ กนอ.เป็นผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมรองรับการลงทุน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการ Thailand Plus ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่ผ่านมาได้มีการเดินสายไปยังประเทศต่าง เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นต้น

สำหรับนิคมฯดังกล่าว กนอ.ได้จัดแบ่งโซนพื้นที่เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมทั่วไป เขตพาณิชยกรรม และโรงงานสำเร็จรูป ประมาณ 347 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภคส่วนกลาง พื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่สีเขียว ซึ่งได้ออกแบบภายใต้แนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) ที่ทุกภาคส่วนทั้งสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จำนวน 283 ไร่ นิคมฯสงขลาแห่งนี้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแห่งที่ 2 ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากมีการใช้พื้นที่เต็มจำนวนแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,400 อัตรา และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในจังหวัดสงขลา ประมาณ 13,800 ล้านบาทในอนาคต

การลงทุน / อุตสาหกรรม : “สุริยะ”ลงใต้ดูความก้าวหน้า2นิคม “รับเบอร์ซิตี้-นิคมฯสงขลา” ฐานผลิตยางพารา

business highlight online : post 14 ตุลาคม 2562 เวลา 11.50 น.