“มนัญญา” ลุยนำร่อง “อุทัยธานีเมืองหลวงปลอดสารพิษ” หลังแบน 3 สารเคมี

785

business highlight online : “มนัญญา” ลุยนำร่อง ‘อุทัยธานีเมืองหลวงปลอดสารพิษ’ หลังแบน 3 สารเคมี พร้อมชี้แจงมะกัน มั่นใจไทยทำตามกฎหมาย

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมตรวจบัญชีและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ณ ศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี อ.เมือง จ.อุทัยธานี ในการนี้ ก่อนการเข้าประชุมมีประชาชนจำนวนกว่า 300 คน อาทิ กลุ่มสหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุทัยธานี จำกัด ข้าราชการ พนักงาน โรงพยาบาลอุทัยธานี และประชาชนชาว จ.อุทัยธานี มาให้การต้อนรับและมอบดอกไม้ให้กำลังใจเพื่อสนับสนุนนโยบายยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี นางสาวมนัญญา กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.อุทัยธานี และร่วมกันหามาตรการช่วยเหลือตามความต้องการของเกษตรกร ภายหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส โดยปรับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผล 1 ธ.ค.นี้ ซึ่งได้เน้นย้ำในที่ประชุมถึงการร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายหลังจากนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งหวังให้คนไทยได้หันมาใส่ใจสุขภาพเลือกบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามต้องรับฟังความคิดเห็นและให้แต่ละหน่วยงานเร่งสำรวจความต้องการของประชาชนด้วย

นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนตามมาตรการจำกัด 3 สารเคมีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงเกษตรฯ จึงเตรียมขับเคลื่อนโครงการ “อุทัยธานีเมืองหลวงเกษตรปลอดภัย” เพื่อเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัยใน จ.อุทัยธานีเป็นแห่งแรกและขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพเข้าสู่มาตรฐานปลอดภัย ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอใน จ.อุทัยธานี พร้อมทั้งสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรในจังหวัดเป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตในระดับอำเภอ โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย สร้างร้านค้าจำหน่ายสารชีวภัณฑ์ในท้องถิ่น (Green shop) นอกจากนี้จะบูรณาการกับกระทรวงสาธารณสุข เชื่อมโยงตลาดโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยในทุกอำเภอ กระทรวงศึกษาธิการ โครงการอาหารปลอดภัยในโรงเรียน ตลอดจนพัฒนาร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยในจังหวัดและสหกรณ์การเกษตร เป็นร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย Green Shop ตลอดจนพัฒนาตลาด เพิ่มช่องทางการจำหน่ายโดยเฉพาะซุปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ในจังหวัด

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะใช้สหกรณ์เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ดังนี้ 1. เตรียมสหกรณ์มารองรับโครงการอุทัยธานีเมืองหลวงเกษตรปลอดภัย โดยเป็นกลุ่มของสหกรณ์ชั้น 1 ชั้น 2 ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร ในการควบคุม กำกับ การขายปุ๋ย/สารเคมี ตลอดจนสนับสนุนการผลิต เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% ให้สมาชิกกู้เพื่อจัดการแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นขุดสระ/บ่อบาดาล เพื่อพัฒนาอาชีพ รวมทั้งสหกรณ์รับซื้อผลผลิตให้กับสมาชิกโดยกรมฯ จะช่วยหาตลาดให้ และ 2. มาตรการสนับสนุน หากมีการยกเลิก 3 สารเคมีอันตราย โดยใช้สหกรณ์ให้บริการเครื่องจักรกลมาดูแลผลผลิต เช่น อ้อย ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพด โดยสนับสนุนเครื่องจักรกล ให้กับสหกรณ์เพื่อลดต้นทุนให้กับสหกรณ์และสมาชิก ทั้งนี้ จะทำการศึกษาและสำรวจความต้องการของเกษตรกรต่อไป

สำหรับ กรณีสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เพื่อให้พิจารณาการแบนสารไกลโฟเซตนั้น ตนมองว่าควรจะดูที่ความต้องการของคนในประเทศมากกว่า อีกทั้งกฎหมายของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน ซึ่งไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้มานานหลายปี และตนก็ยังคงยืนยันในจุดยืนแบนสารดังกล่าว โดยทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่เข้ารับตำแหน่ง หากมีหนังสือมาถึงกระทรวงเกษตรฯ ก็พร้อมที่จะชี้แจงเหตุผลกลับไป ส่วนสารทดแทนนั้นไม่ได้มีราคาสูงอย่างที่หลายฝ่ายมอง เนื่องจากสารเหล่านี้มีขายตามท้องตลาดทั่วไป เกษตรกรจับต้องได้ ส่วนสารทางเลือกคืออยากให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งมีอีกมากมายที่สามารถนำมาทำปุ๋ยได้

โฆษณา