business highlight online : นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจขาลง
เมื่อวานนี้ (24 ก.พ.2563) เวลา 19.40 น. ณ อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงภาพรวมการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน เพื่อสร้างรากฐานอนาคตประเทศ พร้อมยอมรับในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงท้าทายจากเศรษฐกิจโลกในช่วงขาลง
นายกรัฐมนตรีเผยว่าเศรษฐกิจโลกที่มีการชะลออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ประมาณกลางปี 2561 ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะเข้ารับตำแหน่ง กลายเป็นแรงกดดัน ซึ่ง IMF ก็ทราบถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก มีการปรับลดประมาณการของเศรษฐกิจโลกลงถึง 6 ครั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.9 ก็ลงมาเหลือ 2.9 ถือเป็นการประมาณการที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ปี 2550 – 2551 และประเมินว่าการค้าโลกจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1 ในปี 2562 จากที่โตถึง 3.7 ในปี 2561 ทำให้สินค้าเกษตรของโลกมีราคาตกต่ำ ทั้งข้าว ยาง ปาล์ม น้ำตาล มันสำปะหลัง ซึ่งไทยมีเกษตรกรถึง 20 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของ GDP ทำให้ไทยได้รับผลกระทบ ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความตึงเครียดทางการเมืองจากตะวันออกกลาง ไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล้วนส่งผลกระทบทั้งสิ้น รัฐบาลที่ผ่านมาก็ได้ทำงานอย่างหนัก ทั้งเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โครงการ EEC โครงการไทยแลนด์ 4.0 GDP รวมทั้งรัฐบาลยังเร่งลงทุนในเศรษฐกิจมหภาค เพื่อช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจของพี่น้องประชาชนสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ จาก 7 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ได้ประคองตนในเชิงเศรษฐกิจได้ดีพอสมควร GDP ครึ่งหลังของปี 2562 เริ่มประคองตัวได้ ถ้าไม่ติดปัญหาเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ถึงกระนั้นภาพรวม GDP ทั้งปียังเป็น 2.4 ซึ่งดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ การท่องเที่ยวไทยยังขยายตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ถึงแม้จะลดลง สินค้าเกษตรในประเทศบางตัว ราคาปรับตัวดีขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมันปรับตัวดีขึ้นจากเดิม 2.79 บาท วันนี้ทำได้ 6.93 บาทต่อกิโลกรัมในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ด้วยการนำเป็นพลังงาน รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุน BOI ก็ยังเป็นไปตามเป้าหมายของปี 2562 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 7.5 แสนล้านบาท โดยมีการส่งเสริมการลงทุนถึง 7.56 แสนล้านบาท รวมทั้งมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน EEC คิดเป็น 59% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งเป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การมีสินค้าที่มีมูลค่าสูง แข่งขันได้ ใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ ขณะที่ก็ส่งเสริม 5 อุตสาหกรรมเดิมและอีก 7 อุตสาหกรรม เพื่อจะได้รายได้ภาษีมาดูแลคน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลเดินหน้ามาตรการ 9 ด้านทำควบคู่กันไป มุ่งเน้นดูแลสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การยกระดับราคาสินค้าเกษตร การประกันรายได้ ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงกองทุน แหล่งทุนต่างๆ พัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี 3 ล้านรายให้เติบโตยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาเครื่องจักร มีมาตรการรองรับดูแล ซึ่งในวันนี้ได้ไปต่อถึงไมโครเอสเอ็มอีแล้ว ขอให้ดูเม็ดเงินที่จะออกมาเมื่อมีการใช้งบประมาณ 63 รวมทั้งการขับเคลื่อนการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนและต่างประเทศ ทั้งส่งเสริมให้คนไทยลงทุนในประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนสร้างสินค้าที่มีคุณภาพที่แข่งขันได้ ทั้งนี้ นโยบายทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ การเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ล้วนเป็นการสร้างรากฐานให้อนาคตของประเทศ
นายกรัฐมนตรีเผยว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเป็นระยะ ตั้งแต่ 20 สิงหาคม 2562 ประกอบด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 มุ่งเน้นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอี รวมถึงโครงการชิมช็อปใช้ ที่ประชาชนมีการตอบรับดี ระยะที่ 2 เน้นเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ระยะที่ 3 เศรษฐกิจฐานราก กองทุนหมู่บ้าน การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว การลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ที่มีการจัดให้ประชาชนเช่าหรือเช่าซื้อก็ได้ ซึ่งประชาชนมีความพอใจ รวมทั้งมีการดูแลเรื่องแรงงาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ประมาทได้มีการเตรียมมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ระยะที่ 3 ในประเทศด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการพักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านฯ การพักหนี้ด้วยความสมัครใจ โครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก กองทุนหมู่บ้านฯ 71,742 แห่ง กำลังเตรียมการมาตรการประชารัฐสร้างไทย ลงไปถึงประชาชน ให้สมาชิกนำเงินทุนไปใช้เพิ่มความสมบูรณ์ของที่ดิน ทำแหล่งน้ำต่างๆ จ้างนักศึกษาที่เรียกว่ายุวชนสร้างชาติไปช่วยพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนด้วย รวมทั้งการปรับมาตรการส่งเสริมฐานะผ่านบอร์ด BOI ให้สามารถลงทุนในกิจการอื่นๆ ที่มีศักยภาพได้ เช่น ภาคการเกษตร เกษตรแปรรูป สินค้าหัตถกรรม ด้านการท่องเที่ยว ดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ หรือเศรษฐกิจผันผวน ลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งผ่าน ธ.ก.ส. ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ที่มีตลาดรองรับ รวมทั้งเดินหน้าเรื่องเกษตร BCG สินค้าเกษตรปลอดภัย GAP สินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งรัฐบาลมีแผนแม่บท และมีกว่า 273,259 โครงการน้ำด้วย
โฆษณา