business highlight online : รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทั้งทางตรง ทางอ้อม
วันนี้ (24 มี.ค.63) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวฯ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมกับกระทรวงการคลัง แถลงมาตรการดูแล เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่มีต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด มีมาตรการรองรับทางเศรษฐกิจตั้งแต่เกิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ซึ่งมาตรการระยะที่ 1 ที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 63 เพื่อมุ่งดูแลผู้ประกอบการ ป้องกันการปลดคนงาน ถึงวันนี้ผ่านมาสองสัปดาห์ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ในการ ดูแลเยียวยาประชาชนบางส่วนที่เริ่มได้รับผลกระทบ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบเรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โอกาสนี้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ร่วมกันเปิดเผยถึงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ประกอบด้วย กลุ่มแรงงานลูกจ้าง มีมาตรการ คือ 1. สนับสนุนเงิน คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ให้เงินเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จากกรณีการปิดพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดชั่วคราว 2. สินเชื่อฉุกเฉินวงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อรายไม่ต้องมีหลักประกัน 3. สินเชื่อพิเศษวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ต้องมีหลักประกัน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี 4. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชน (Soft loan) ปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่สถานธนานุเคราะห์เพื่อให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 5. ยืดระยะเวลาการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลื่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไปเป็นสิ้นสุด 31 ส.ค. 63 6. เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ โดยเพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพจาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท 7. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคคลากรทางการแพทย์ 8. ฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพหรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้ ขยายการฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย
ด้านกลุ่มผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 7 มาตรการ ได้แก่ 1. สินเชื่อรายย่อย วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท 2. เลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 และ ภ.ง.ด. 51 3. เลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่งและชำระภาษี เช่น VAT ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอื่นๆ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 4. ขยายระยะเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นเวลา 3 เดือน 5. ขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต อาทิ ไนต์คลับ ผับ บาร์ รวมถึงสถานอาบน้ำหรืออบตัวและนวด สนามแข่งม้าและสนามกอล์ฟ ออกไปจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 6. ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโควิด-19 เป็นเวลา 6 เดือน 7. ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Non-Bank) ให้เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ Leasing
จากนั้น นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวถึงการหารือร่วมกันของ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลตลาดพันธบัตร ตลาดตราสารและกองทุนรวมทั้งหลาย ได้มีมาตรการคู่ขนานมาตรการเยียวยาเพื่อป้องกันตลาดทุนออกมา 3 เรื่อง ได้แก่ มาตรการที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งกลไกพิเศษขึ้นมา 1 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กองทุนรวม รองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 2. หุ้นกู้โดยจัดตั้งกองทุนที่จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับหุ้นกู้ของประเทศไทย วงเงินประมาณ 70,000 – 100,000 ล้านบาท เพื่อให้ธุรกิจยังเดินต่อไปได้ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและลูกจ้าง 3. ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง
รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวในช่วงท้ายว่า ในเวลานี้ อยากให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสาธารณสุข อยู่บ้าน ดูแลตนเอง เพื่อลดการแพร่เชื้อ เสียสละในระยะสั้นดีกว่าที่จะเกิดผลกระทบในระยะยาว ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังพร้อมออกมาตรการที่เหมาะสมมารองรับ เพื่อดูแลเศรษฐกิจของไทยช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง
โฆษณา