business highlight online : กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ผนึกกำลังเสนอมาตรการเยียวยาดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 เตรียมเสนอร่างพระราชกำหนด 2 ฉบับ เพื่อครอบคลุมภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมชี้แจงมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาชุดที่ 3 ครอบคลุมภาคประชาชนและธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและโครงสร้างเศรษฐกิจ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายสมคิดกล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษว่าด้วยการนำเสนอมาตรการเยียวยา ดูแลเศรษฐกิจไทยชุดที่ 3 โดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดให้ครอบคลุมทุกมิติ ให้ครอบคลุมช่วงระยะเวลาที่มีการคาดคะเนไว้ที่ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้มีทรัพยากรและมาตรการดูแลประชาชน ธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม โดยจะนำเสนอเป็นกลุ่มกิจกรรม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ มาตรการดูแลเยียวยาภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ยังขาดอยู่เพื่อให้ครอบคลุมครบถ้วน กลุ่มที่ 2 มาตรการดูแลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่ทุกอย่างติดขัด เพื่อมิให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักในช่วง 3 – 4 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และสุดท้ายการดูแลภาคการเงิน แม้ว่าจะยังไม่พบปัญหาแต่รัฐบาลก็ไม่ประมาทจึงได้มีมาตรการดูแลครอบคลุมภาคการเงินด้วย
ทั้งนี้ นายอุตตม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้จัดชุดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาทางด้านเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก คือ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และกลุ่มดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม ผู้ประกอบการ และธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลในส่วนระบบ ในเรื่องประชาชนเบื้องต้นคือ กลุ่มเกษตรกร ที่จะมีมาตรการเข้ามาดูแล ขณะที่ผู้ประกอบการ กลุ่มลูกจ้าง ทั้งลูกจ้างที่อยู่ในประกันสังคมและอาชีพอิสระ ลูกจ้างชั่วคราว ที่ไม่อยู่ในการดูแลของประกันสังคม จะดูแลต่อไป ส่วนที่เพิ่มเติมคือการลดภาระการผ่อนสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอยู่เดิมแล้ว รวมถึงสถาบันการเงินอื่นๆที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพราะมีประชาชนใช้บริการขอสินเชื่อจำนวนมากเช่นกัน
สำหรับกลุ่มที่สอง คือ การดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการใช้งบประมาณต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ทั้งด้านสาธารณสุขและที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ส่วนต่อไปคือการดูแลเศรษฐกิจในพื้นที่ หรือ local economy เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานประชาชนกลับคืนสู่พื้นที่ภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็ยังคงมีคนจำนวนไม่น้อยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งรูปแบบของการทำธุรกิจอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง จึงได้เพิ่มมาตรการดูแลเสริมสร้างอาชีพ เพิ่มโอกาส และทักษะใหม่ๆในชุมชนเป็นการสร้างความเข้มแข็งในชุมชนและเศรษฐกิจในประเทศไปพร้อมกัน รวมทั้งแนวคิดการลงทุนของภาครัฐเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมทั่วประเทศ กลุ่มที่สาม คือ ผู้ประกอบการ ลดภาระที่เกิดจากการกู้ – ยืม เพิ่มสภาพคล่อง โดยรัฐบาลจะมีชุดมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือจากระยะ 1 และระยะ 2 ที่ได้ออกไปแล้ว
จากนั้น นายวิรไท ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงเพิ่มเติมว่า ในส่วนของผู้ประกอบการ ธนาคารแห่งประเทศไทยทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ เสนอชุดมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นประชาชนรายย่อยในการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งชุดมาตรการสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กก็มี อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิด – 19 ที่ไม่แน่นอนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงมีการขยายมาตรการพักเงินต้น – ดอกเบี้ยให้ครอบคลุม SMEs ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ อีกหนึ่งมาตรการ คือ สินเชื่อ เป็นการเพิ่มสภาพคล่องใหม่เพื่อช่วยในเรื่องเงินทุนหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการบางรายที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่ใช้ดูแลลูกจ้างและธุรกิจให้ยังก้าวข้ามต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในหลักการเพื่อออกพระราชกำหนดเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ soft loan โดยตรงได้ ด้วยเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย คล้ายๆปี 2555 เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ได้มีการออกพระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถจัดทำโครงการ soft loan โดยตรงได้ ซึ่งครั้งนี้จะเป็นโครงการที่ใหญ่กว่าครั้งที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้เงินของธนาคารออมสินในรอบที่ผ่านมา โดยจะนำเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคาร (7 เม.ย.) ที่จะถึงนี้
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ย้ำว่า สถาบันการเงิน ระบบการเงินของประเทศไทยยังคงเข้มแข็งเป็นเสาหลักที่สำคัญให้แก่เศรษฐกิจไทยยังคงเดินต่อไปได้ ขณะเดียวกันต้องให้แน่ใจได้ว่าตลาดการเงินที่ยังทำหน้าที่ได้อย่างเป็นปกติ ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกันพิจารณากลไกดูแลตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่มีขนาดใหญ่ถึง 3.5 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยให้ภาคเศรษฐกิจ 14 ล้านล้านบาท ซึ่งผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ครอบคลุมประชาชนและองค์กรหลายประเภทด้วยกัน เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น และมีธุรกิจจำนวนมากที่กู้ยืมงานตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเสนอขอหลักการจัดทำมาตรการเพื่อให้เป็นหลังพิงให้แก่ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยจะขอให้มีการออกพระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถซื้อตราสารที่ครบกำหนดเพื่อไปชำระของเดิมได้ โดยต้องเป็นตราสารนั้นจะต้องออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดี และมีการระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และมีเงื่อนไขในการคัดกรอง โดยจะนำเสนอร่าง พ.ร.ก. ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารหน้าเช่นกัน
นอกจากนี้ยังอีก 2 มาตรการการเงินที่สำคัญ ได้แก่ การขยายระยะเวลาคุ้มครองเงินฝากออกไป จาก 5 ล้านบาทลดเหลือ 1 ล้านบาทจากในเดือนสิงหาคม ปี 2563 จะขอให้ยืดออกไปก่อนให้มีผลในเดือนสิงหาคมปี 2564 เพื่อคลายความกังวลของประชาชน รวมทั้งอีกหนึ่งมาตรการคือการเลื่อนการนำส่งเงินสมทบของธนาคารพาณิชย์ที่จะนำไปใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินจากร้อยละ .46 ให้เหลือร้อยละ .23 เป็นระยะเวลา 2 ปี และจะให้สถาบันการเงินนำไปลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงต่างๆที่ประชาชนและภาคธุรกิจที่จะต้องจ่ายจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินนั้นๆ ซึ่งจะช่วยลดภาระประชาชนได้อีกส่วนหนึ่ง
สุดท้ายนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลมีมาตรการดูแลประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน โดยท้ายที่สุดคือการดูแลประชาชนไม่ว่าจะจนหรือรวยให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยจะมอบหมายให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งชาติ เตรียมการรายละเอียด กฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งหากทันจะนำเข้าเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
โฆษณา