business highlight online : นายกรัฐมนตรีเดินหน้าแผนพัฒนาฉบับ 12 หวังยกระดับไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เชื่อมั่นคนไทย คือ ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
21 กันยายน 2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2563 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่าด้วยการติดตามประเมินผลในช่วงครึ่งแผนแม่บทในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2565) และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้าราชการและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพคฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” ความตอนหนึ่งว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะดีขึ้น แต่ประมาทไม่ได้ ยังต้องเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีแผนฯ 12 เป็นก้าวแรกของการเดินทาง เน้นการวางรากฐานที่แข็งแกร่ง กำจัดจุดอ่อนเชิงโครงสร้าง และพัฒนาจุดแข็งในช่วงชีวิตวิถีใหม่ สำหรับอนาคต โดยผลักดันการพัฒนาสำคัญหลายด้าน อาทิ 1. การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2. การช่วยเหลือเกษตรกรผ่านการประกันรายได้ 3. โครงการชิมช็อปใช้ กระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ 4. การอนุมัติงบบัตรทอง 5. การเพิ่มเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6. การแก้ปัญหาภัยแล้ง และ 7. โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งยังได้ดำเนินการรับมือกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินกู้ฉุกเฉิน มาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา การยืดเวลาการชำระภาษีเงินได้ เพื่อลดภาระให้กับประชาชน ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน
นายกรัฐมนตรีเผยถึงการเดินหน้าบริหารงานภายใต้การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการจัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด -19 พ.ศ. 2564 – 2565 เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก 2. เน้นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค 3. เน้นกระตุ้นอุปสงค์ และการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล โดยนายกรัฐมนตรีได้ยกตังอย่างการอนุมัติโครงการสำคัญต่างๆ เช่น โครงการ 1 ตำบลกลุ่ม 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ (โคก หนอง นา โมเดล) โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ
นายกรัฐมนตรียังย้ำทิศทางการพัฒนาประเทศและศักยภาพที่สำคัญของไทยที่สามารถ “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience) ภายใต้ 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1. การพร้อมรับ 2. การปรับตัว 3. การเปลี่ยนแปลง เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเป้าหมายสำคัญคือ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยมี 4 ประเด็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษใน 2 ปีข้างหน้า คือ 1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ 2. การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว 3. การพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคน 4. การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวเผยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในยุคชีวิตวิถีใหม่ ว่า ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันพัฒนาตนเองเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะทุกคน คือ ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยร่วมกันในทุกระดับไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
Advertising