ก.แรงงานจับมือ ‘หัวเว่ย’ ผลิตแรงงานดิจิทัลป้อนตลาดแรงงาน

477

business highlight online : ก.แรงงานจับมือ ‘หัวเว่ย’ สร้างแรงงานดิจิทัล สู่การขับเคลื่อนประเทศยุค 4.0

นฤมล มอบ กพร. ร่วมกับ บ.หัวเว่ย สร้างแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลป้อนตลาดแรงงาน สู่การขับเคลื่อนประเทศยุค 4.0 เน้นย้ำให้คนไทยมีงานทำ มีฝีมือที่ได้มาตรฐาน เพื่อเดินหน้าประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

22 ตุลาคม 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือสูงขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานด้านดิจิทัล รองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต และประเทศไทย 4.0 โดยมีนายธวัช  เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายเทา หลิว รองกรรมการผู้จัดการบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงนาม มีนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ย ประเทศไทย และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมพิธี ณ อาคารจีทาวเวอร์ ชั้น 39 กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวว่า รัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในทุกๆมิติ สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะต้องได้รับการปฏิรูปไปควบคู่กัน ซึ่งการสร้างแรงงานที่จะมีความรู้ด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดิจิทัล จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายของไทยแลนด์ 4.0 ได้ นอกจากนั้นท่านนายกฯยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงานในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย จึงมอบหมายให้กระทรวงแรงงานปรับตัวจากกระทรวงทางสังคมสู่การเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ สอดคล้องกับภารกิจหลักของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาและยกระดับฝีมือให้แก่กำลังแรงงานให้มีความรู้และทักษะฝีมือที่สูงขึ้น สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ การลงนามความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงาน มีเป้าหมายในการบูรณาการภารกิจ เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรฝึกของ กพร. นำไปขยายผลให้ความรู้แก่แรงงานในแต่ละพื้นที่ต่อไป

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร ของหัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาสามปีข้างหน้า จะร่วมกันสร้างโอกาสการเรียนรู้และจัดการฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะแรงงาน รวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (ReSkill) และการยกระดับทักษะเดิมให้ดียิ่งขึ้น (UpSkill) เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ช่วยลดอัตราการว่างงาน เพิ่มรายได้แรงงานไทย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น พัฒนาด้านดิจิทัลให้แข็งแกร่ง เพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะสูงให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0

“เราเชื่อมั่นว่าแรงงานที่แข็งแกร่งและมีทักษะสูง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมไอซีที จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลได้สำเร็จ หัวเว่ยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ และช่วยพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นายเติ้ง กล่าว

ในวันนี้ ยังได้จัดพิธีมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพเสริม สาขาการติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G รุ่นแรก ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลา 18 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคมที่ผ่านมา การจัดฝึกอบรมดังกล่าว เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือนี้ ตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจจำนวน 300 คน ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยครอบคลุมหัวข้อหลักๆ อาทิ เครือข่าย 4G และ 5G รวมไปถึงการลงพื้นที่จริง ณ สถานีฐาน (Base Station) อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าฝึกอบรมให้กับบุคลากรฝึกของกรม จำนวน 120 คน และฝึกอบรมหลักสูตรออนไลน์ให้แก่บุคคลทั่วไปจำนวน 3,000 คน ซึ่งภายหลังการฝึกอบรมครบตามข้อกำหนด ผู้จบหลักสูตรจะได้รับวุฒิบัตรรับรองทักษะความรู้ที่สามารถนำไปเป็นหลักฐานในการสมัครงานและยกระดับการประกอบอาชีพในอนาคต

“ขอขอบคุณหัวเว่ย ที่ได้มาผนึกกำลังกับภาครัฐในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายนับว่ามีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อพัฒนาบุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำไปขยายผลและจัดโครงการให้ความรู้แก่แรงงานในแต่ละพื้นที่ต่อไป เรามุ่งมั่นที่จะกระตุ้นทั้งเศรษฐกิจและสังคมให้มีการเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พร้อมๆไปกับการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0” รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด

Advertising