บอร์ด สสว.สนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คาดเอสเอ็มอีลงทะเบียน 1 แสนราย

419

business highlight online : บอร์ด สสว. สนับสนุนเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คาดเอสเอ็มอีลงทะเบียนตามเป้าหมาย 1 แสนรายภายในสิ้นปีงบฯ 64 พร้อมสร้างการรับรู้ระดับพื้นที่ครั้งแรกที่นนทบุรี 15 มี.ค.นี้

10 มี.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 1/2564 ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมบอร์ด สสว. มีมติรับทราบความคืบหน้าการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงาน ดังนี้

1.การผลักดันให้เอสเอ็มอีขึ้นทะเบียนเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดย สสว. ได้ประสานความร่วมมือในการส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้าสู่การจัดจ้างภาครัฐ กับสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทีเอ็มบี และหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองทัพอากาศ กรมทางหลวง ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ออกแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สำหรับผลสะสมการขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอีเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อมูล ณ วันที่ 7 มี.ค. 64 มีเอสเอ็มอีจาก 77 จังหวัดมาขึ้นทะเบียน (ตั้งแต่เดือน ต.ค. 63) รวม 5,782 ราย จำนวนสินค้าและบริการที่ขึ้นทะเบียน 53 ประเภท 4,768 รายการ โดยประเภทสินค้า/บริการของเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไว้กับ สสว. ที่มีจำนวนรายการมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ (1) เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่ง (2) ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ (3) เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน (4) เครื่องมือและวัสดุที่ใช้สำหรับการป้องกันภัย การบังคับใช้ตามกฎหมายและความปลอดภัย (5) เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม ทั้งนี้  สสว. มีกำหนดการสร้างการรับรู้ระดับพื้นที่ครั้งที่ 1 โดยจัดการประชุมเผยแพร่มาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ “THAI SME-GP @นนทบุรี” ในวันจันทร์ที่ 15 มี.ค.64 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จ.นนทบุรี ซึ่งจะมีกิจกรรมเสวนา และบริการให้คำปรึกษา แนะนำ สาธิตการขึ้นทะเบียน ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและหน่วยงานภาครัฐกลุ่มเป้าหมายรวม 200 ราย

2.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบกำหนดโจทย์ล่วงหน้า ที่มีการนำร่องภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สสว. กับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) และสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา สสว. เชื่อมโยงความร่วมมือในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุงระหว่างสมาคมฯ กับกองทัพอากาศ ผ่าน TAI โดยนำผู้ประกอบการเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ จังหวัดนครสวรรค์ และลพบุรี ส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต Drone ของกองทัพอากาศ สำหรับการดำเนินงานในปัจจุบันมีการขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุง สู่ตลาดภาครัฐและภาคเอกชน และขยายความร่วมมือสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลภายใต้กองทัพอากาศ และโรงพยาบาลภายใต้เหล่าทัพอื่นๆ โดยการดำเนินงานต่อไปในอนาคต จะขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์สู่โรงพยาบาลของรัฐ รวมทั้งขยายความร่วมมือสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมระบบรางด้วย ทั้งนี้ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบกำหนดโจทย์ล่วงหน้าดังกล่าว มีการประมาณการผู้ได้รับประโยชน์ในอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรม Medical อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมระบบราง และอุตสาหกรรม Automation รวมทั้งสิ้นกว่า 12,000 ราย

3.การอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอี เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ได้ดำเนินการลดปัญหา/อุปสรรคให้แก่เอสเอ็มอีในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น การจัดเตรียมเอกสารสำหรับเสนองานภาครัฐ การวางหลักประกันการเสนอราคา/หลักประกันสัญญา ระยะเวลาที่เหมาะสมที่ภาครัฐจะจ่ายเงินให้แก่เอสเอ็มอีที่เป็นคู่สัญญา (Credit term ภาครัฐ) และการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่เอสเอ็มอี โดยการใช้ใบสั่งจ้าง/สัญญา/ใบแจ้งหนี้ (Invoice) เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ (Factoring) นอกจากนี้ สสว. มีการจัดประชุมเพื่ออำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อระดมความคิดเห็นของกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเด็นปัญหา-อุปสรรค การเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และระดมความคิดเห็นของกลุ่มหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา-อุปสรรค เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐมากขึ้น

“สสว. คาดว่าการขึ้นทะเบียนเพื่อให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของเอสเอ็มอี จะเป็นไปตามเป้าหมาย 10,000 รายแรก ในสิ้นเดือน มี.ค.64 และอัตราการขึ้นทะเบียนจะเร็วขึ้น เพราะ สสว. มีการเชื่อมโยงข้อมูลเอสเอ็มอีกับหน่วยงานอื่นๆ ขณะที่แผนระยะยาวเพื่อให้การลงทะเบียนของเอสเอ็มอีไปถึงเป้าหมาย 100,000 รายในสิ้นปีงบประมาณ 64 สสว. จะเร่งขับเคลื่อนร่วมกับส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนงาน โดยจะมีการสร้างการรับรู้ระดับพื้นที่ เริ่มที่ จ.นนทบุรีเป็นแห่งแรก และจะขยายผลออกไปยังพื้นที่ต่างๆต่อไป” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

Advertising