เผยยอดการลงทุนของเอกชนใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 25,400 ล้านบาทแล้ว

382

business highlight online : ยอดการลงทุนภาคเอกชนใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษประมาณ 25,400 ล้านบาทแล้ว นายกฯย้ำหลังโควิด-19 คลี่คลายให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเศรษฐกิจ ต้องชัดเจน ลุกให้เร็ว ก้าวให้ไว

21 พ.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (21 พ.ค.64) เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความสำคัญในการเร่งรัดพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนและภาคเอกชนในพื้นที่ ทั้งการเพิ่มรายได้ สร้างงานและอาชีพ เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งให้เตรียมแผนบริหารแรงงานอย่างเป็นระบบทั้งแรงงานในประเทศและต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ ลดปัญหาคนว่างงานในอนาคต โดยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษพิจารณาจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่เพื่อประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายของ กพศ. และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนในพื้นที่ด้วย

โอกาสนี้ ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการกำหนดพื้นที่และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน 4 ภาค ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง – ตะวันตก (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ พิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ และนำเสนอ กพศ. เพื่อพิจารณาต่อไป รวมทั้งให้จังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 4 ภาค ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ประกอบการในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง รวมทั้งวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แนวทางการดำเนินงาน และการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำห้วงเวลานี้เป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจต้องชัดเจน ลุกให้เร็ว ก้าวให้ไว เพื่อรองรับหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะคณะกรรมการ กพศ. จะต้องเป็นหลักในการที่จะทำให้รัฐบาลสามารถที่จะตัดสินใจในการอนุมัติแผนงาน/โครงการและการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ รวมถึงภารกิจ พันธกิจ และการบูรการณ์ Agenda เหล่านี้ ทุกกระทรวงต้องช่วยกัน ส่วนการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 4 ภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง – ตะวันตก และภาคใต้) ต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่อย่างเต็มที่ก่อนขยายเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆที่มีศักยภาพและความพร้อม รวมทั้ง BOI ต้องมีการปรับกฎ ระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดึงคนที่มีศักยภาพ Talent คนสูงอายุที่มีกำลังทรัพย์ และโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการพิจารณาในเรื่องของ Free Zone เช่นเดียวกับหลายประเทศได้ดำเนินการอยู่ เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าวนี้ คือ อนาคตของประเทศและเศรษฐกิจไทย

Advertising