บิ๊กตู่ สั่งดูแลชาวนาราคาข้าวตกต่ำ ด้าน ธ.ก.ส.พร้อมโอนเงินโครงการประกันรายได้งวดแรก 9 พ.ย.นี้

383

business highlight online : ประยุทธ์ กำชับดูแลชาวนาจากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เร่งเดินหน้าบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องเกษตรกรเต็มที่

5 พ.ย. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่ได้นิ่งนอนใจ กรณีพี่น้องชาวนาร้องเรียนว่า ขณะนี้ราคาข้าวตกต่ำจนถูกกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ได้กำชับกระทรวงพาณิชย์และ ธ.ก.ส. เร่งหาแนวทางว่าจะแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร  ทั้งนี้ เข้าใจดีว่า ขณะนี้พี่น้องชาวนาได้รับผลกระทบหลายด้านทั้งจากโรคโควิด-19 น้ำท่วมและราคาข้าวตกต่ำ จึงต้องหาทางบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็ว

นายธนกรยังกล่าวถึงราคาข้าวที่ลดต่ำลงในช่วงนี้ว่า  มาจากปัจจัยหลายด้าน เช่น การส่งออกข้าวไปต่างประเทศและการบริโภคในประเทศที่ลดลง ปริมาณฝนตกชุกและปัญหาน้ำท่วมส่งผลต่อคุณภาพข้าว อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ขณะนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมากขึ้นในช่วง 6 เดือนหลัง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันข้าวไทย  คาดว่าปีนี้จะส่งออกได้ราว 6 ล้านตันตามที่ตั้งเป้าไว้ ประกอบกับความต้องการบริโภคในประเทศสัญญานดีขึ้นจากการเปิดประเทศ สถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลายลง และมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เข้าไปแก้ไขปัญหา จะช่วยให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดดีขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุด ธนาคาร ธ.ก.ส. แจ้งว่าระบบจะสามารถโอนเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในโครงการประกันรายได้ งวดแรกในวันที่ 9 พ.ย.นี้

สำหรับมาตรการดูแลพี่น้องชาวนามีทั้งโครงการประกันรายได้ปี 2564/65 โดยกำหนดราคาข้าวเปลือกที่ความชื้นไม่เกิน 15% เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท รวมทั้งยังมีมาตรการคู่ขนานเหมือนกับปีก่อนโดยให้เกษตรกรรวบรวมจัดเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง ซึ่งจะได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท และรับซื้อข้าวเปลือกกับสหกรณ์และโรงสีเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยชดเชยดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 2-6 เดือน สำหรับโรงสี และ 1 ปี สำหรับสหกรณ์ นอกจากนี้กรมการค้าภายในยังได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการนอกพื้นที่เข้าไปช่วยรับซื้อข้าวเหนียวในพื้นที่ภาคเหนือ 7 จังหวัด ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 และอนุมัติโครงการตลาดนัดข้าวเปลือกให้มีผู้รับซื้อเข้าไปแข่งขันรับซื้อในพื้นที่ที่มีผู้รับซื้อไม่เพียงพอกับผลผลิต เพื่อให้เกิดการแข่งขันและราคา ใน 19 จังหวัดอีกด้วย

Advertising