ประยุทธ์ ย้ำโลกกำลังฟื้นตัว ควรเร่งฟื้นฟู พลิกโฉมเศรษฐกิจสู่การเติบโตระยะยาว ในที่ประชุมเอเปคครั้งที่ 28

267

business highlight online : ประยุทธ์ ย้ำโลกกำลังฟื้นตัว ควรเร่งฟื้นฟูและพลิกโฉมเศรษฐกิจไปสู่การเจริญเติบโตในระยะยาว ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เวลา 18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 ช่วงที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “การฟื้นตัวจากโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับทุกคนและลูกหลานของเรา” ผ่านระบบการประชุมทางไกล

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 ในปี 2564 มีหัวข้อหลักคือ ร่วมกัน ทำงาน เติบโตไปด้วยกัน (Join, Work, Grow. Together.) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ในฐานะเจ้าภาพการประชุมกล่าวต้อนรับเข้าสู่การประชุม สำหรับของขวัญที่นิวซีแลนด์ได้มอบให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจคือ ผ้าพันคอ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจจากชนเผ่าเมารีเป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวของคนหลายกลุ่ม สะท้อนว่าเรารวมตัวกันเพื่อร่วมมือกัน ส่วนจี้หยกสะท้อนจิตวิญญาณของนิวซีแลนด์ลวดลายมีความหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ด้วยกัน สร้างแนวทางใหม่ร่วมกัน ในช่วงเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่ต้องก้าวผ่านความแตกต่างเพื่อร่วมมือกันจัดการกับโรคโควิด-19 ผ่านความร่วมมือใหม่ไปสู่อนาคต ตลอดจนต้องแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีดิจิทัล การฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และหาแนวทางการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันโดยเฉพาะกับเยาวชน โดยนายกนิวซีแลนด์ได้เน้นย้ำความสำคัญของเวทีเอเปคเพื่อก้าวสู่อนาคตใหม่ร่วมกัน

โดยนายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า โลกกำลังมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แม้ยังเผชิญกับความท้าทายจึงควรรีบตักตวงการใช้ประโยชน์ เพื่อเร่งฟื้นฟูและพลิกโฉมเศรษฐกิจไปสู่การเจริญเติบโตในระยะยาว โดยโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสนอ 3 ประเด็นที่เอเปคควรให้ความสำคัญ

ประการแรกที่เร่งด่วนที่สุด การรื้อฟื้นความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว ไทยเล็งเห็นประโยชน์ของการมีมาตรการด้านการเดินทางร่วมกันในภูมิภาค และมุ่งมั่นที่จะผลักดันประเด็นนี้อย่างเต็มที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยมุ่งมั่นผลักดันให้มีการกลับมาเชื่อมโยงกันในภูมิภาค และจะร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อผลักดันเรื่องนี้ต่อไปในวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565

ประการที่สอง การกระตุ้นการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การผลักดันการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีที่อยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า เอเปคต้องสนับสนุนและส่งสัญญาณที่เข้มแข็งไปยังการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 ที่กำลังจะจัดขึ้น ที่จะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมดังกล่าว

ประการที่สาม การพลิกโฉมเศรษฐกิจ เพื่อการเจริญเติบโตในระยะยาวที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม ซึ่งผู้นำโลกได้ย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันในการผลักดันการดำเนินการด้านความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศที่การประชุม COP26 โดยไทยได้ประกาศเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ตลอดจนได้ให้คำมั่นในการนำนวัตกรรมมาสนับสนุนการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเติบโตสีเขียว ตามแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)

Advertising