ความขัดแย้ง ‘รัสเซีย-ยูเครน’ เพิ่มความเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก

255

business highlight online : ความขัดแย้ง ‘รัสเซีย-ยูเครน’ เพิ่มความเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก

25 ก.พ. 65 ในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะที่มีความอ่อนไหวสูง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน คือ สิ่งที่ไม่มีใครต้องการ เพราะผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อพุ่ง สร้างความระส่ำให้กับตลาดเงินทั่วโลก สร้างปัญหาให้กับประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคในยุโรป หรือนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จีนที่แบกหนี้ก้อนโตอยู่ รวมทั้งครอบครัวคนธรรมดาๆในแอฟริกาที่ต้องรับมือกับการปรับขึ้นของราคาอาหารในเร็วๆนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

แม้การที่รัสเซียส่งกองทัพบุกยูเครนในครั้งนี้และการดำเนินมาตรการลงโทษต่างๆ จากชาติตะวันตกจะไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจโลกจะก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง เนื่องจากมูลค่าจีดีพีของทั้งสองนั้นรวมกันแล้วมีสัดส่วนเพียงไม่ถึง 2% ของจีดีพีโลก และเศรษฐกิจชั้นนำทั่วโลกนั้นยังอยู่ในสภาพที่แข็งแกร่ง หลังฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มาได้

แต่ความขัดแย้งนี้ก็ยังอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับบางประเทศและอุตสาหกรรมบางส่วนได้ เพราะรัสเซียคือผู้ผลิตน้ำมันปิโตรเลียมที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลกเช่นกัน ส่วนยูเครนนั้นคือผู้ปลูกและส่งออกเมล็ดธัญพืชอันดับต้นๆของโลกด้วย ขณะที่ ตลาดการเงินทั้งหลายยังอยู่ในจุดที่มีความเสี่ยงต่อแรงกดดันได้ ในช่วงที่ธนาคารกลางต่างๆกำลังเตรียมจะยกเลิกการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่เพื่อจัดการกับการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งการปรับดอกเบี้ยขึ้นนั้นหมายถึงการใช้จ่ายต่างๆที่จะลดลงและโอกาสที่เศรษฐกิจจะตกต่ำลงได้

นอกจากนั้น การโจมตีของรัสเซียนั้นอาจทำให้กระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปชะลอตัวลง จากการที่พลังงานซึ่งอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้วพุ่งขึ้นไปอีก ขณะที่ ยุโรปเองพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึงเกือบ 40% ของความต้องการในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ภาคการเกษตรของยูเครนที่น่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้และทำให้การส่งออกเมล็ดธัญพืชของประเทศลดลงในช่วงที่ราคาอาหารโลกนั้นอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 มา และบางประเทศกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอยู่ด้วย

ราคาพลังงานและอาหารที่พุ่งสูงจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อที่รัฐบาลทั้งหลายรวมทั้งธนาคารกลางที่เกี่ยวข้องพยายามควบคุมอยู่ โดย Capital Economics ประเมินว่า ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากความขัดแย้งนี้จะทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นระดับ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศร่ำรวยทั้งหลายเพิ่มขึ้นถึง 2% ด้วย

ที่มา: เอพี

Advertising