บอร์ด PPP แต่งตั้งคณะอนุกรรมการข้อตกลงคุณธรรม ยกระดับความโปร่งใสคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน

267

business highlight online : 20 เม.ย. 65 คณะกรรมการ PPP เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการข้อตกลงคุณธรรมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยกระดับความโปร่งใสการคัดเลือกเอกชนในโครงการร่วมลงทุน

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผย ผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 18 เมษายน 2565 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

1.คณะกรรมการ PPP เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการข้อตกลงคุณธรรมในโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562) โดยมี องค์ประกอบจาก สคร. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) และโครงการร่วมลงทุน เพื่อทำหน้าที่ติดตาม ประสานงาน และสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวกับข้อตกลงคุณธรรมในโครงการร่วมลงทุนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

2.คณะกรรมการ PPP ได้รับทราบความคืบหน้าการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนโดยปัจจุบัน มีโครงการร่วมลงทุนที่อยู่ระหว่างกระบวนการการคัดเลือกเอกชนและเข้าข่ายต้องดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรม จำนวน 4 โครงการ ซึ่ง สคร. ได้แจ้งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ไปยังหน่วยงานเจ้าของโครงการแล้ว จำนวน 3 โครงการได้แก่ 1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2) โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก และ 3) โครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยสำหรับโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หน่วยงานที่ สคร. มอบหมายอยู่ระหว่างการพิจารณารายชื่อผู้สังเกตการณ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ก่อนจัดส่งให้ สคร. เพื่อประกอบการดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ การนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุน จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการดำเนินโครงการร่วมลงทุน รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 รวมทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภาคเอกชนที่จะเข้ายื่นข้อเสนอในโครงการร่วมลงทุนมากขึ้น

Advertisement