“ชัยวุฒิ” ค้าน คกก.ควบคุมยาสูบ ห้ามนำเข้า/ขายบุหรี่ไฟฟ้า ชี้เปิดเสรีเก็บภาษีเข้ารัฐ

303

business highlight online : 29 เมษายน 65 รมว.ดีอีเอส ส่งหนังสือ ถึงคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) เรียกร้อง ทบทวนมติแบนบุหรี่ไฟฟ้า เผยไม่สอดคล้องกับบริบทปัญหา เเนะเรียกร้องเปิดนำเข้าเสรี เก็บภาษีให้ถูกกฏหมาย สกัดเส้นทางการลักลอบขายออนไลน์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากที่คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติในการประชุมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาได้มีมติห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบในประเทศไทย ซึ่งจริงๆก็มีกฎหมายห้ามอยู่แล้ว ขณะนี้คณะกรรมการก็มีมติแบนบุหรี่ไฟฟ้า ห้ามนำเข้าห้ามจำหน่ายในประเทศด้วยเหตุผลที่ป้องกันไม่ให้เยาวชนหรือพี่น้องประชาชนไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งทางกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคมได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดเราก็มีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัลในการใช้ชีวิตในการทำธุรกิจและเราก็พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการขายออนไลน์จำนวนมาก

เราได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ พบว่ามีการใช้อย่างแพร่หลายมากเพราะประชาชนที่เค้ามีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่มวนหรือบุหรี่จริงและมีการผลการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งก็มีสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอังกฤษ ในยุโรปหลายประเทศเป็นประเทศที่เจริญแล้วกว่า 70 ประเทศ  ศึกษาและยอมรับให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศนั้นได้  ซึ่งก็กลายเป็นสร้างปัญหา สร้างเงื่อนไขที่ทำให้การลักลอบการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านระบบออนไลน์อย่างแพร่หลายซึ่งเราก็ไม่สามารถปิดกั้นได้ มีการลักลอบมีการเรียกร้องเงินใต้โต๊ะเป็นผลประโยชน์มหาศาลซึ่งผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราทำให้ถูกกฎหมายและเก็บภาษีให้ถูกต้องนี่ก็เป็นประเด็นแรกที่ผมได้ทำหนังสือคัดค้านไป

อีกประเด็นผมคิดว่าคณะกรรมการยาสูบแบนบุหรี่ไฟฟ้าโดยอาจไม่ได้ฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลทางวิชาการเป็นมติที่ไม่ชอบ ควรจะมีการศึกษาอย่างรอบด้านรับฟังความเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นำข้อมูลวิชาการของประเทศที่เปิดให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้เอามาร่วมพิจารณาด้วยในการศึกษา ไปห้าม 100 % มันไม่ใช่ทางออกของบริบทในสังคม

แล้วก็ทำให้ประชาชนที่เค้าอยากจะมีทางเลือกในการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ที่มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนก็ไปจำกัดสิทธิ์ของเค้าด้วย เพราะวันนี้หลายประเทศยอมรับแล้วว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่จริงมีสารพิษน้อยกว่า ซึ่งอันนี้ท่านก็ไปจำกัดสิทธิ์จำกัดทางเลือกของพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ แล้วที่สำคัญจะไปอ้างว่าป้องกันเยาวชนและคนรุ่นใหม่เข้ามาสุบบุหรี่ ผมคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถ้าเค้าอยากสูบบุหรี่เค้าก็ไปซื้อบุหรี่จริงอยู่แล้วซึ่งท่านก็ไม่ได้ห้ามอะไรอยู่ดี ผมคิดว่าจริงๆท่านควรจะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกต้องและก็เข้าอยู่ในระบบอยู่ในเกณฑ์เดียวกับบุหรี่จริง มีการควบคุมการโฆษณา ห้ามโฆษณา ห้ามจำหน่ายออนไลน์ อาจจะดีกว่าการที่ผลักให้ไปอยู่ใต้ดินที่ผิดกฎหมายและก็ลักลอบขายกันออนไลน์กันทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งอันนี้ผมเรียนเลยว่าโดยระบบของเราไม่สามารถปิดกั้นหรือเทคดาวน์ได้ทั้งหมด วิธีเดียวที่ดีที่สุดก็คือรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง เปิดโอกาสให้บุหรี่ไฟฟ้าได้เข้ามามีความส่วนแสดงความคิดเห็นให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคณะกรรมการ หาทางออกร่วมกันที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถ มีที่ยืนในสังคมไทยเพื่อเราจะได้ควบคุมและใช้ประโยชน์ ดีกว่าเราไปผลักไปๆสร้างปัญหาอื่นๆตามมา  ผมได้ทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติเพื่อให้ทบทวนมติการห้ามจำหน่าย และห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด

“จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงฯ ในปี 64 พบว่า ประเทศไทยมีผู้บริโภคยาสูบกว่า 10 ล้านคน และมากกว่าร้อยละ 52 ไม่มีความคิดที่จะเลิกบุหรี่ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ควรที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเป็นกลางเรื่องผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริโภค และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งซึ่งเด็กและเยาวชนก็ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สำหรับพวกเขา” นายชัยวุฒิกล่าว

พร้อมทั้งเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรมีกฎหมายที่กำหนดอายุขั้นต่ำในการซื้อขาย และกฎหมายที่ควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ยังไม่มีความคิดจะเลิกบริโภคยาสูบสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และอาจลดปริมาณสารพิษที่เกิดขึ้นในอากาศ รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าจะมีมาตรฐานที่ควบคุมได้เช่นเดียวกันกับประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ นโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสม จำเป็นต้องพิจารณาผลประโยชน์ในภาพรวม ได้แก่ ประโยชน์ที่ผู้สูบบุหรี่ที่จะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่อันตรายน้อยกว่า ประโยชน์ในการปกป้องผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมไปถึงการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน และประโยชน์ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ที่ไม่ต้องรับสารพิษต่างๆจากการเผาไหม้

นายชัยวุฒิ กล่าวย้ำว่า การพิจารณานโยบายเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า อย่างเหมาะสมกับบริบทและความเป็นจริง ซึ่งตั้งอยู่บนหลักฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรมสมัยใหม่ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดอันตรายในด้านสุขภาพ ให้กับผู้บริโภคยาสูบ และประชาชนโดยทั่วไป ขณะเดียวกันก็ยังสามารถปกป้องคุ้มครองเยาวชนไม่ให้เข้าถึงสินค้าเหล่านี้

Advertisement