business highlight online : 31 พฤษภาคม 2565 เพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ได้โพสต์ข้อความคำแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ความว่า
พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่านครับ
ช่วงวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย.65 นี้ ผมและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคน มีภารกิจสำคัญร่วมกัน ในการช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งทุกท่านทราบดีว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน แก้ปัญหาต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชน และวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้มีผลเป็นรูปธรรม บรรลุวิสัยทัศน์ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนให้กับบ้านเมืองของเรา
การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลได้พิจารณาปัจจัยรอบด้านจากภายในและภายนอกประเทศ ทั้งการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลง และการบริหารจัดการผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยงบประมาณนี้ จะนำไปขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ในการดูแลพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างตามกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมสำคัญ ในปีงบประมาณหน้าได้อย่างน้อย 10 ประการดังนี้
1.กลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ: (1) มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา เพื่อรองรับโลกดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 (2) ส่งเสริมการเติบโตอย่างสมวัย เช่น การสนับสนุนนม และอาหารกลางวันให้เด็กวัยเรียน 5.04 ล้านคน (3) ลดภาระผู้ปกครอง โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9.68 ล้านคน (4) สร้างความเท่าเทียม เช่น ช่วยเหลือเด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส 2.68 ล้านคน ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ (5) พัฒนานักกีฬาของชาติ ตั้งแต่ระดับเยาวชน เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านกีฬาอาชีพ ไม่น้อยกว่า 30,000 คน เป็นต้น
2.กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: (1) สนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี 2.5 ล้านคน (2) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 11.03 ล้านคน (3) เบี้ยยังชีพคนพิการ 2.09 ล้านคน (4) เสริมสร้างทักษะอาชีพเพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ 12,000 คน (5) ส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะสำหรับคนพิการ 20,000 คน (6) พัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน 98,930 คน และ (7) สร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น บ้านพอเพียง 25,000 ครัวเรือน บ้านมั่นคง 3,750 ครัวเรือน และอาคารเช่าอีก 1,087 หน่วย
3.กลุ่มพี่น้องเกษตรกร ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ: เราจะให้ความสำคัญสูงสุดในการยกระดับภาคเกษตรกรรมสู่ “เกษตรอัจฉริยะ” (Smart Farmer) โดย (1) สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง 7.92 ล้านครัวเรือน (2) การถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่และเกษตรอัจฉริยะใน 40 ชุมชน (3) บริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) จำนวน 71,540 ไร่ (4) ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย 240,500 แห่ง (5) ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ 3,023 แปลง 201,000 ไร่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย เช่น การมอบสิทธิในที่ดินทำกิน 20,000 ราย และการลดดอกเบี้ยเพื่อการเกษตร 353,400 ราย
4.กลุ่มผู้ประกอบการ ที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย: (1) ส่งเสริม SME ผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจชุมชน ให้ปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล 22,000 คน 2,400 กิจการ (2) พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชน 3,500 ราย (3) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการค้าผ่าน e-commerce 25,800 คน (4) สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจแก่ SME ไทยอย่างน้อย 800,000 ราย สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากลได้ และ (5) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 292 กิจการ เป็นต้น
5.กลุ่มพี่น้องแรงงาน ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ให้เราก้าวไปข้างหน้าได้: (1) พัฒนาทักษะแรงงานให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างน้อย 23,000 คน (2) เสริมสร้างทักษะและสมรรถนะแรงงาน เพื่อรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ไม่น้อยกว่า 75,300 คน (3) โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 400,000 คน (4) ผลักดันให้แรงงานในระบบและนอกระบบ เข้าถึงระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เป้าหมาย 24.3 ล้านคน นอกจากเรื่องทักษะและสวัสดิการของแรงงานแล้ว รัฐบาลยังให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพของพี่น้องแรงงาน ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด และป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์อีกด้วย
6.ด้านการพัฒนาการศึกษา ที่มุ่งเป้าจะเป็นหนึ่งในผู้นำระดับนานาชาติ (1) สร้างสมรรถนะครูยุคใหม่ 64,300 คน (2) ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา 678,500 คน (3) เชื่อมโยงการศึกษากับภาคธุรกิจ โดยพัฒนาครูผู้สอนระบบทวิภาคี 12,000 คน (4) พัฒนาโรงเรียนคุณภาพทุกตำบล ไม่น้อยกว่า 8,200 โรงเรียน และ (5) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางไกลผ่านดาวเทียม สนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และมีคุณภาพตามมาตรฐาน ไม่น้อยกว่า 7,900 แห่ง เป็นต้น
7.ด้านการยกระดับระบบสาธารณสุข ที่จะต่อยอดจากความสำเร็จให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น (1) สร้างกลไกในการนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่น้อยกว่า 47.7 ล้านคน (2) ส่งเสริมระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ผสมผสาน การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (3) สนับสนุนกลไกการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม. หมอประจำบ้าน ไม่น้อยกว่า 1.039 ล้านคน (4) ผลิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข ไม่น้อยกว่า 38,400 คน (5) กระจายแพทย์ไปสู่ชนบทไม่น้อยกว่า 7,490 คน ตลอดจนสร้างศูนย์การแพทย์ครบวงจร 2 แห่ง และสร้างโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะทางอีก 3 แห่ง เป็นต้น
8.ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องและเห็นผลเป็นรูปธรรม (1) ทางถนน ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงชนบท ระยะทาง 4,017 กิโลเมตร (2) ทางราง “สายเหนือ” เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ “สายตะวันออกเฉียงเหนือ” บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม และระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา เป็นต้น
9.ด้านการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักของไทย เพื่อรองรับการเปิดประเทศ (1) พัฒนาเส้นทางชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 50 ชุมชน (2) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 10 แห่ง และแหล่งธรณีวิทยา 9 แห่ง (3) ยกระดับชุมชนเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย 50 ชุมชน (4) พัฒนาเมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ 10 เมือง (5) สร้างการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกลุ่มอาเซียนและงานสัมมนาระดับนานาชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านล้านบาท
10.ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของโลก (1) รักษาพื้นที่ป่าในความดูแล 98.36 ล้านไร่ (2) ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร 26,910 ไร่ (3) จัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ 3,000 หมู่บ้าน (4) จัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อระบบประปา 49,381 ครัวเรือน (5) เพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ 158.27 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 389,037 ไร่ (6) ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 108,223 ไร่ (7) ปลูกป่าฟื้นฟู 14,970 ไร่ และรักษาระบบนิเวศและสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนคุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง 3,148 กิโลเมตร
ที่กล่าวมานั้น เป็นตัวอย่างเป้าหมายของการทำงานร่วมกันของเรา ของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ในปีหน้า ภายใต้สภาวะโลกที่ไม่ปกตินัก แต่ชาติบ้านเมืองก็ไม่อาจหยุดพัฒนาได้ และผมเชื่อมั่นว่า เรามีความพร้อมและต้นทุนอย่างมากมายในการขับเคลื่อนและพลิกโฉมประเทศ ไปสู่อนาคตที่มั่นคงแข็งแรง ด้วยความสามารถ และความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทุกคนครับ
Advertisement