Krungthai มอง กนง. คงดอกเบี้ยคะแนนไม่เอกฉันท์ สัญญาณฟื้นตัวชัดขึ้น อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 3/22

209

business highlight online : 9 มิถุนายน 2565 ตามที่ กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี  โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งที่ 3/2022  โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.3 และ 4.2 ตามลำดับ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมากโดยเฉพาะในหมวดบริการ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของไทย และต่างประเทศที่เร็วขึ้น นอกจากนี้ ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคภาคเอกชน
  • อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และ 2.5 ตามลำดับ ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น แต่ กนง. ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเสี่ยงมากขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากและเร็วกว่าคาด และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้น ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
  • มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว รวมทั้งความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดสำหรับกลุ่มเปราะบาง ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มยังเปราะบางโดยรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง จึงอาจมีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น
  • ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายแต่มีความผันผวนมากขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบ ดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะข้างหน้า

Krungthai COMPASS มองเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดขึ้น จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด สอดคล้องกับมุมมองของ กนง. ซึ่งทำให้ กนง. อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในไตรมาส 3/2022 โดย กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด โดยเฉพาะในหมวดบริการ สอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากภาครัฐเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ค. ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นในกรอบ 23-32% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2019 เทียบกับครึ่งปีแรก ที่อยู่มีเพียง 9-10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2019 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2022 จะอยู่ในช่วง 6.4-8.3 ล้านคน ซึ่งหากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเดือน มิ.ย. และ ก.ค. เพิ่มขึ้นตามที่คาดหรือมากกว่า จะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และทำให้ กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมในไตรมาส 3/2022 สอดคล้องกับสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จากการที่คณะกรรมการ 3 เสียงได้ลงมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ รวมทั้ง แถลงข่าวผลการประชุมครั้งที่ 3/2022 ที่ชี้ให้เห็นว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น ต่างจากการประชุมในครั้งก่อนๆ ที่  กนง. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี คาดว่า กนง. จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเหมือนกับประเทศเศรษฐกิจหลักที่ภาวะเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างร้อนแรง และอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 มาระยะหนึ่ง ขณะที่ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19

Krungthai COMPASS มองว่า อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก

  • การส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าได้อย่างไม่เต็มที่ จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าเงินเฟ้อ สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่เฉลี่ยเดือน ม.ค. – พ.ค. 22 ที่สูงถึง 11.1% ขณะที่อัตราอัตราเงินเฟ้อ (CPI) เฉลี่ยเดือน ม.ค.–พ.ค. 22 อยู่ที่เพียง 5.2% อย่างไรก็ดี การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าและบริการเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าในตะกร้าสินค้าที่เริ่มขยายวงกว้างไปยังสินค้าอื่น เช่น หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า จากเดิมที่การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าจะกระจุกตัวอยู่ในหมวดอาหารและพลังงานเท่านั้น
  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ความต้องการน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากสหรัฐฯ ที่ตลาดแรงงานเติบโตอย่างแข็งแกร่งในเดือน พ.ค. รวมถึงความต้องการน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นในช่วง Driving Season และจีนที่เริ่มทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เมืองเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆของจีนจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว ขณะที่ตลาดยังกังวลว่า อุปทานที่เพิ่มขึ้นจากปรับเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสจะยังไม่เพียงพอและไม่สามารถชดเชยกำลังการผลิตที่หายไปจากรัสเซียได้ ประกอบกับ ข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่อาจเพิ่มปริมาณอุปทานน้ำมันในตลาดโลกได้กว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยังคงไม่มีความคืบหน้า ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด Goldman Sachs ปรับประมาณการราคาน้ำมันดิบ Brent ในครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นจาก 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 135 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

Advertisement