ปตท.-กฟผ.เร่งแผนส่งเสริมอีวี

154

business highlight online : 29 มิถุนายน 65 กฟผ.เปิดให้บริการ “Supernova” เครื่องอัดประจุไฟฟ้าสุดอัจฉริยะแบรนด์ Wallbox เครื่องแรกในเอเชีย ด้านกลุ่ม ปตท.-ฟ็อกซ์คอนน์ เดินหน้าสร้างโรงงานผลิต EV ครบวงจร

วานนี้ (28 มิ.ย.) คณะผู้บริหารระดับสูง กลุ่ม ปตท. และฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) นำโดย นาย ยัง หลิว ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Mr. Young Liu, Chairman and CEO of Foxconn) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้าพบเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงหารือการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามความก้าวหน้าความร่วมมือระหว่าง กลุ่ม ปตท. และฟ็อกซ์คอนน์ ในการร่วมขับเคลื่อนการสร้างระบบนิเวศ EV ครบวงจร และผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการจัดตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัสบริษัทย่อยของ ปตท. และ Lin Yin International Investment บริษัทในกลุ่มของ Foxconn เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพื่อดำเนินธุรกิจผลิต EV ครบวงจร โดยมีแผนสร้างโรงงานสำหรับรับผลิต EV ให้กับค่ายรถยนต์ที่สนใจทำตลาดในประเทศไทยและอาเซียนนั้น คณะผู้บริหาร Foxconn ได้มีโอกาสเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมหารือแผนการดำเนินงานในรายละเอียด โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2567 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดยังได้หารือถึงโอกาสในการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ที่ Foxconn มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในอุตสาหกรรม Smart Electronics และ Semiconductor รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิต EV ซึ่ง ปตท.เชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทั้งสององค์กร นอกจากจะตอบสนองนโยบายและทิศทางการส่งเสริม EV ของภาครัฐ ในการยกระดับอุตสาหกรรม EV ให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายและสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ที่สำคัญของภูมิภาคแล้ว ยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดของประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร โดยเฉพาะทักษะด้านการพัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการให้บริการเทคโนโลยีโซลูชันขั้นสูงให้ครอบคลุมทุกระดับ รองรับทิศทางของอุตสาหกรรมที่จะมุ่งสู่นวัตกรรมแห่งอนาคตอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจด้าน EV Value Chain

ด้าน นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ร่วมกับบริษัท Wallbox Chargers SL. ประเทศสเปน ติดตั้ง Supernova เครื่องอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะแบบชาร์จเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charger) ภายใต้แบรนด์ Wallbox เครื่องแรกของภูมิภาคเอเชีย ณ บริเวณหน้าร้านกาแฟคุณสายชล อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

จุดเด่นของ Supernova สามารถจ่ายไฟได้สูงสุด 60 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จเพียง 15 นาที วิ่งได้ 100 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการจ่ายไฟสูงถึง 98% และสามารถรองรับหัวชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้าทุกยี่ห้อในท้องตลาด ซึ่ง กฟผ. และเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของ Wallbox Chargers SL. ได้ร่วมทดสอบการชาร์จไฟจาก Supernova กับรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 3 รุ่น คือ Nissan LEAF และ Mitsubishi Outlander PHEV ซึ่งเป็นหัวชาร์จแบบ CHAdeMO และ Audi e-tron ซึ่งเป็นหัวชาร์จแบบ CCS2 ทั้งในส่วนของระบบป้องกันความปลอดภัย ความเร็วในการชาร์จ ประสิทธิภาพในการชาร์จ ความต่อเนื่องและความทนทานในการใช้งาน รวมถึงระบบปฏิบัติการด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ พบว่า การชาร์จไฟจาก Supernova เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบของรถยนต์ไฟฟ้า

Supernova เป็นเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรงที่เหมาะกับการติดตั้งภายในแหล่งท่องเที่ยวร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน ผู้ประกอบการรถเช่า และสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มาใช้บริการอย่างน้อง 30 นาที–1 ชั่วโมง

ทั้งนี้ กฟผ.มีแผนขยายการติดตั้ง Supernova ภายในสถานี EleX by EGAT ในหลายพื้นที่ โดยสามารถใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน EleXA และพร้อมจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ ค่ายรถยนต์ ตลอดจนผู้ที่สนใจได้ภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

Advertisement