รมว.คลัง หนุนอาชีพอิสระออมเงิน รับสังคมผู้สูงอายุ

99

business highlight online : 6 กุมภาพันธ์ 2566 “อาคม” หนุนอาชีพอิสระ ออมเงินกับ กอช. รองรับสังคมผู้สูงอายุ เดินหน้าดึงแรงงานนอกระบบไม่ออมเงินเพื่อการเกษียณ 16 ล้านคน หลัง ครม. ไฟเขียวสมทบ 1,800 บาทต่อปีทุกช่วงอายุ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  มอบนโยบายบทบาทกองทุนการออมแห่งชาติ ในการส่งเสริมการออมภาคประชาชน ประจำปี 2566  หัวข้อ “กอช. มุ่งสร้างบำนาญให้ประชาชนอาชีพอิสระ ทุกจังหวัดมีเงินออมยามเกษียณ” ว่า  เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ   24 มกราคม 66 ปรับเพิ่มเพดานเงินสะสมของสมาชิกจาก 13,200 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 30,000 บาทต่อปี เพื่อให้สมาชิกส่งเงินออมได้มากขึ้น และปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบของรัฐบาลจากเดิม 600 – 1,200 บาทต่อปี ตามช่วงอายุของสมาชิก เป็น 1,800 บาทต่อปีทุกช่วงอายุของสมาชิก เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก กอช. ยิ่งออมเงินตั้งแต่เด็ก ในระยะยาวจะมีเงินออมเอาไว้ใช้ในวัยเกษียณได้จำนวนมากขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นับว่าประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)  ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 12.5 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรทั้งประเทศ   คาดการณ์ว่าไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคม ผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์  โดยมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า  และผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) มากกว่าร้อยละ 28 ในปี 2577  นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย  อยู่ในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น  ทุกฝ่ายจึงต้องเตรียมความพร้อม ในการออมเงินระยะยาวให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยเกษียณ  ยอมรับว่าอัตราการเกิดคนไทยเริ่มลดลง จากเดิมคนหนุ่มสาว 4 คนดูแลพ่อแม่ 1 คน  จะลดเหลือ 2 คนดูแลพ่อแม่ 1 คน เพราะสัดส่วนคนสูงอายุเพิ่มขึ้น

ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ( 2561 – 2580)   และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ( 2560-2564)  แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน  2565 – 2570   มีเป้าหมาย ให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงิน  จากปัจจุบัน แรงงานนอกระบบ 29.5 ล้านคน   ออมเงินเพื่อการเกษียณ 13.4 ล้านคน หรือร้อยละ 45 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด แบ่งเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายประกันสังคมจำนวน 10.9 ล้านคน และสมาชิก กอช. จำนวน 2.5 ล้านคน จึงทำให้มีแรงงานนอกระบบ  ไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ  16.1 ล้านคน หรือร้อยละ 55 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด ในกลุ่มนี้จึงต้องหาทางส่งเสริมให้ออมเงินในระยะยาว

“มองเห็นผู้สูงอายุชาวต่างชาติ เข้ามาพักผ่อนในประเทศไทย มองแล้วอิจฉาแทนคนไทย เพราะต่างชาติมีกองทุนเพื่อเกษียณอายุ มีระบบออมเงินในระยะยาว  เมื่อเลิกทำงานจึงใช้ชีวิตได้สบาย ส่วนคนไทย ยอมรับว่ายังลำบาก ดังนั้นจึงต้องวางแผนการออมเงินตั้งแต่วัยเรียน ตั้งแต่เยาว์วัย คลังให้ความสำคัญอย่างมากในการออมเงินระยะยาว เพื่อให้กองทุนนำเงินไปลงทุนผ่านตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล หรือลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี  เพื่อหาผลตอบแทนเพิ่ม และยังต้องคิดหามาตรการดึงดูดเพิ่มเติม ให้บริษัทเอกชน ผู้ประกอบการจ้างงานผู้สูงอายุ ผ่านการลดหย่อนภาษี  เพื่อหามาตรการจูงใจเพิ่มเติม” นายอาคม กล่าว

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า เมื่อ  ครม. เห็นชอบ  การจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ ถ้าสมาชิกเริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี จำนวน 30,000 บาท จะได้รับเงินสมทบ 1,800 บาทต่อปี ในเดือนถัดไปทุกปี ถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะมีเงินในบัญชีรวมประมาณกว่า 3.4 ล้านบาท จะได้รับบำนาญรายเดือนละ 12,Xxx บาท

ที่ผ่านมา กอช. ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน  จากกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด สถาบันการเงินของรัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หน่วยงานภาคีเครือข่าย และหน่วยงานอื่น ๆ ส่งผลมี สมาชิก กอช. เพิ่มขึ้นจาก 4 แสนคน ในปี 2558 เป็น 2.5 ล้านคน ในปี 2565 เงินกองทุนเพิ่มจาก 1,155 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 เป็น 11,669 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565  กระทรวงการคลัง จึงต้องการให้ทุกหน่วยงานเดินหน้าร่วมกันผลักดันการออมเงินในระยะยาวมากขึ้น แนะให้ใช้สมการกลับข้าง  รายได้ = รายจ่าย+ เงินออม  เปลี่ยนเป็น รายได้-เงินออม = รายจ่าย  เพื่อต้องการให้นำเงินออมก่อนนำไปใช้จ่ายด้านอื่น

Advertisement