business highlight online : 23 กุมภาพันธ์ 2566 ธ.ก.ส. เสริมแกร่งผู้ประกอบการ SME ภาคอีสาน จัดสินเชื่อ SME เสริมแกร่ง วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจครบวงจร ชูห้างหุ้นส่วนจำกัดสมบัติถ้วยเงิน ผู้ผลิตและจำหน่ายถ้วยรองยางพารารีไซเคิล ที่นำนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตภายใต้หลัก BCG Model ตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อมและความต้องการของตลาด เสริมการจ้างงานคนในชุมชนและการยกระดับคุณภาพชีวิตกว่า 100 ครัวเรือน
วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2566) นายสุภาษิต ศุภวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เยี่ยมชมห้างหุ้นส่วนจำกัดสมบัติถ้วยเงินของนายชนินทร์ พัฒนแสง ผู้ประกอบการ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายถ้วยรองและลวดมัดถ้วยรองยางพาราเจ้าใหญ่ที่สุดในจังหวัดบึงกาฬ โดยเริ่มจากการจัดซื้อเม็ดพลาสติกมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่ประสบปัญหาราคาต้นทุนสูง จึงปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีรับซื้อเศษพลาสติกมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อขึ้นรูปถ้วยรองยางพารา โดยใช้ความรู้เดิมด้านงานช่างมาพัฒนาศักยภาพในการผลิต ทั้งการนำเครื่องจักรและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ และการลดต้นทุน โดยถ้วยรองน้ำยางที่ผลิตได้ มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถใช้งานได้มากกว่า 1 ปี ที่สำคัญน้ำยางไม่ติดก้นถ้วย เก็บน้ำยางได้ง่าย ซึ่งช่วยตอบโจทย์ความต้องการในตลาด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราได้ใช้สินค้าคุณภาพดีในราคาถูก โดยเฉลี่ยใบละเพียง 2 บาท ปัจจุบันห้างหุ้นส่วนจำกัดสมบัติถ้วยเงินสามารถผลิตถ้วยรองน้ำยางพาราได้จำนวนกว่า 30,000 ใบต่อวัน และส่งจำหน่ายไปยังผู้ผลิตยางพาราทั่วประเทศ ในด้านการบริหารจัดการตลาดได้มีการขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านทางสื่อออนไลน์ เช่น Facebook และ Line เพื่อจับกลุ่มและขยายกลุ่มเป้าหมายไปยัง Smart Farmer มากขึ้น นอกจากนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมบัติถ้วยเงินยังรับผลิตลวดมัดถ้วยรองน้ำยางพารา โดยจ้างแรงงานในชุมชนกว่า 100 ครัวเรือน ในการขึ้นรูปลวดมัดถ้วยรองยางพารา ซึ่งถือเป็นการสร้างงานและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
นายสุภาษิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสมบัติถ้วยเงินถือเป็นผู้ประกอบการเกษตรหัวขบวนที่มีการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้หลัก BCG โมเดล โดยนำกระบวนการรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตถ้วยรองน้ำยางพาราที่ช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม มีการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนผ่านการจ้างงาน เช่น การขึ้นรูปลวดมัดถ้วยรองยางพารา ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการและเกษตรกรหัวขบวนที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการลงทุนที่ตอบโจทย์ในการดูแลสิ่งแวดล้อม ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้นผ่านสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร วงเงิน 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหมุนเวียนหรือลงทุนในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการสนับสนุนความรู้ในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ่านหลักสูตร สิ่งที่ธุรกิจ SME เกษตร ต้องรู้ มุ่งสู่ความสำเร็จ เป็นต้น อันนำไปสู่ การยกระดับการแข่งขันในตลาดให้กับผู้ประกอบการเกษตรภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยในปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตรแก่ผู้ประกอบการเกษตรไปแล้วกว่า 12,163 ล้านบาท
Advertisement