เงินบาทกลับสู่โซนอ่อนค่า จับตารัสเซีย-ยูครน

117

business highlight online : 24 กุมภาพันธ์ 2566 เงินบาทอยู่ในโซนอ่อนค่าอีก หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนเมื่อวานนี้ จับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกลับมารุนแรง

เช้านี้ เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.70-34.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.10 น.) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในขณะที่บางช่วง วานนี้ แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนที่ 34.73

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเงินบาท ยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด อาทิ การปรับตัวลงของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ซึ่งแม้จะมีการปรับทบทวนลงจากที่ประกาศรอบแรก แต่ก็สะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงประคองทิศทางการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.60-34.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดรอติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดขายบ้านใหม่ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ม.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาสดใสและดีกว่าคาด โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.6 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ จากแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดดังกล่าว มองว่า ในระยะสั้น ควรจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกลับมาร้อนแรงได้ (รัสเซียอาจเปิดฉากบุกโจมตียูเครนครั้งใหญ่อีกรอบ)

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทยังคงมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ  ประเมินว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ในระยะสั้นนี้ (อย่างน้อยจนกว่าตลาดจะเลิกหรือคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด) ทำให้ เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways และอาจเข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนราคาที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วน ที่เป็นฝั่ง Long USDTHB (เชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง) รอทยอยขายทำกำไรอยู่

Advertisement