นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ยืนยันหนุนการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐ

0
47

business highlight online : 13 มีนาคม 2566 นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Trade Winds Business Development Forum ยืนยันสนับสนุนการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐ พัฒนาศักยภาพและคุณภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการประกอบธุรกิจ

วันนี้ (13 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Trade Winds Business Development Forum เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ รวมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมโอกาสความร่วมมือในประเด็นที่ไทยและสหรัฐ ให้ความสำคัญร่วมกัน ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการกล่าวปาฐกถาพิเศษ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณการจัดกิจกรรม Trade Winds ในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการพบปะกับภาคเอกชน รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจะเป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพและคุณภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด รัฐบาลไทยยินดีที่สหรัฐเลือกจัดกิจกรรม Trade Winds ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย สะท้อนถึงโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลและภาคเอกชนสหรัฐ ในการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทเอกชนสหรัฐ

โดยกิจกรรม Trade Winds ในครั้งนี้จะเป็นโอกาสยกระดับความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นแล้ว และเป็นโอกาสครบรอบ 190 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐ นับตั้งแต่ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ เมื่อปี 2376 ซึ่งมิตรภาพ ความเป็นพันธมิตร และความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ได้ดำเนินมาอย่างเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาค ในช่วงสองปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สหรัฐ มีความใกล้ชิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างกันมีมูลค่ากว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สหรัฐกลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่สองของไทยอีกครั้งในรอบ 15 ปี แสดงถึงความร่วมมือและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งระหว่างกัน และศักยภาพและความพร้อมของไทยในด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยงและโลจิสติกส์

ไทยและสหรัฐ มีเป้าหมายและนโยบายที่สอดคล้องกันในการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เข้มแข็ง และมีความสมดุล โดยไทยให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว หรือ BCG Economy ซึ่งผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ร่วมกันรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG และสหรัฐ ในฐานะเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ จะสานต่อการดำเนินการในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้ไทยได้ร่วมมือกับสหรัฐ และประเทศหุ้นส่วนในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นธรรม ซึ่งแผนความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหรัฐ จะช่วยเสริมสร้างโอกาส ความร่วมมือระหว่างกันในหลายมิติ ได้แก่

ประการแรก คือความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุน และการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค เป็นจุดเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานด้วยที่ตั้งด้านภูมิศาสตร์และมาตรการสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายสำหรับภาคเอกชน โดยไทยสนใจร่วมมือและส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนสหรัฐ ในสาขาใหม่ๆ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และชิ้นส่วนต้นน้ำของเซมิ-คอนดักเตอร์ สินค้าและบริการทางการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมชีวภาพ ยานยนต์ยุคใหม่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG

ประการที่สอง ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานสะอาด เพื่อเร่งสร้างเศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ ในการนี้ขอเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐร่วมลงทุนและสนับสนุนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี เพื่อให้ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม EV พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจน เทคโนโลยี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมทั้งเทคโนโลยีดักจับ ใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

ประการสุดท้าย การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลคืออนาคตของเรา ไทยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และเร่งดำเนินโครงการ upskill และ reskill ทักษะดิจิทัลเพื่อพัฒนาบุคลากร ในการรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในช่วงที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชนสหรัฐในการลงทุนพัฒนาศูนย์จัดเก็บข้อมูลระบบคลาวด์ในประเทศไทย รวมถึงการขยายความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศด้านนวัตกรรม การพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ Quantum และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรม Trade Winds ปีนี้จะยกระดับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเพื่อเป้าหมายร่วมกันในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล เข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป

อนึ่ง กิจกรรม Trade Winds เป็นการนำคณะนักธุรกิจสหรัฐ เยือนต่างประเทศประจำปีของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ โดยในปี 2566 สหรัฐเลือกจัดกิจกรรมในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยการสร้างเครือข่ายธุรกิจ การจับคู่ทางธุรกิจ และกิจกรรมพบหารือระหว่างภาคเอกชนสหรัฐ กับผู้แทนรัฐบาลไทยและสหรัฐ โดยคาดว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ 150 คน

Advertisement

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here