business highlight online : 8 เมษายน 2566 นายกฯ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเชิงการแพทย์ ต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน สร้างจุดแข็ง นำรายได้เข้าประเทศ
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนต่อยอดการท่องเที่ยวไทย พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างจุดแข็ง และนำรายได้เข้าประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ทั้งในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการรับรอง และราคา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศ (ททท.) เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพถือเป็น 1 ใน 5 เทรนด์ท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 ที่นักเดินทางกำลังมองหา และ ททท. กำลังเดินหน้าต่อยอดรวมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้ากับการท่องเที่ยวแบบอื่นๆ อาทิ โปรแกรมอาสาสมัคร การสัมผัสประสบการณ์ด้านอาหาร ตลอดจนกิจกรรมทางวัฒนธรรม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสัดส่วนมูลค่าตลาด Medical Tourism ของโลก ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีสัดส่วนมูลค่ามากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 35 โดยไทยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 9 ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ร้อยละ 6 และมาเลเซีย ร้อยละ 5 ตามลำดับ และจากการศึกษาคาดการณ์ว่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 24,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (838,000 ล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2570 เพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. 2562 ที่ 9,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ไทยยังมีสถานพยาบาลเกือบ 60 แห่งที่ได้รับการรับรองโดย Joint Commission International (JCI) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองสถานพยาบาล ที่คอยตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย
“รัฐบาลชื่นชมการทำงานของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวมาโดยตลอด มุ่งดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรอบด้านเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งวีซ่าท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Treatment Visa) ระยะเวลา 1 ปี เข้าออกได้หลายครั้ง ครั้งละ 90 วัน และวีซ่า Thailand Elite สำหรับการพำนักระยะยาวตั้งแต่ 5-20 ปี ซึ่งถือเป็นนโยบายที่มุ่งสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาค” นายอนุชา กล่าว
Advertisement