นายกฯสั่งคุมเข้มราคาสินค้าเกษตร–สินค้าอุปโภคบริโภค

83

business highlight online : 24 เมษายน 2566 รัฐบาลคุมเข้มราคาสินค้าเกษตร-สินค้าอุปโภคบริโภค กำชับกระทรวงพาณิชย์ คุมต้นทุนราคาสินค้า มีทั้งค่าแรง น้ำมัน วัตถุดิบ ไม่ใช่ค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค พบว่าราคาสินค้ายังทรงตัว จึงกำชับกระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน ให้มีการควบคุมต้นทุนราคาสินค้าเกษตรและสินค้าจำเป็น ทั้งผักสด เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่อย่างใกล้ชิด

กรมการค้าภายในและคณะ ได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การค้าที่ห้างสรรพสินค้าใน จ.นนทบุรี พบว่าตั้งแต่  17 เม.ย. 66 เป็นต้นมา ประชาชนกลับมาจับจ่ายใช้สอยกันมากตามปกติ หลังจากที่ได้เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ โดยราคาสินค้ายังคงทรงตัว กลุ่มอาหารสด เช่น หมูเนื้อแดง ราคา กก.ละ 127-129 บาท น่องไก่ติดสะโพก กก.ละ 69 บาท และไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาฟองละ 3.7 บาท กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เช่น ข้าวสารบรรจุถุง น้ำมันพืช ซอสปรุงรส อาหารกระป๋อง นม นมข้นหวาน/นมข้นจืด สบู่ แชมพู ครีมอาบน้ำ ผงซักฟอกน้ำยาซักผ้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ไม่มีการปรับขึ้นราคา

“นายกรัฐมนตรี ขอให้ดูแลราคาสินค้าหลายรายการเป็นไปตามกลไกตลาด ปรับขึ้นหรือลดลงตามอุปสงค์-อุปทาน  ให้มีการควบคุมต้นทุนราคาสินค้าเกษตร สินค้าจำเป็น ทั้งผักสด เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่อย่างใกล้ชิด   แม้จะมีปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศบางประการที่มีผลต่อต้นทุนสินค้า เช่น ต้นทุนวัตถุดิบที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา แต่ละประเภทสินค้า ค่าจ้างแรงงาน และต้นทุนด้านพลังงาน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเป็นต้น แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการได้ส่วนหนึ่ง เช่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงกลางปี 2565 และราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลงจากช่วงเดือน ก.ค. 65 ที่ราคา 35 บาท/ลิตร เป็น 33 บาท/ลิตร  เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนและช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น” นายอนุชา กล่าว

Advertisement