นายกฯ ชื่นชมโครงการ “DIPROM Startup Connect”

492

business highlight online : 4 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ชื่นชมโครงการ “DIPROM Startup Connect” ได้รับความร่วมมือต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริม Startup ยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลการดำเนินโครงการ “ดีพร้อม สตาร์ตอัป คอนเน็ค” (DIPROM Startup Connect) ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยมีผู้ประกอบการไทยจาก 25 กิจการ และภาคเอกชนขนาดใหญ่จาก 7 บริษัท ให้ความสนใจเข้าร่วม เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 300 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน (Micro Enterprises) โดยล่าสุดได้จัดทำโครงการดีพร้อม สตาร์ตอัป คอนเน็ค (DIPROM Startup Connect) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีผู้เข้าร่วมจากผู้ประกอบการไทย 25 กิจการ และภาคเอกชนขนาดใหญ่ 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน), บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด, บริษัท แมกซ์ เวนเจอร์ส จำกัด, บริษัท บางกอกอินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด และบริษัท ฮอนด้าเทรดดิ้ง เอเชีย จำกัด เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน รวมถึงเป็นเวทีให้กลุ่มผู้ประกอบการไทยได้นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านสินค้าหรือบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพ (Corporate venture capital : CVC) และส่งเสริมให้มีการขยายตลาดร่วมกันในอนาคต

สำหรับในปี 2566 นี้ กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการฯ คือ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) หรือเทคโนโลยีทั่วไปที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร วัสดุชีวภาพ และพลังงาน โดยมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมร่วม (Co-Creation) ให้ผู้ประกอบการสามารถทดลองใช้นวัตกรรม หรือโซลูชั่นส์ในตลาดจริง (Proof of Concept : POC) โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 300 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับผลการพัฒนาต่อเนื่องจากโครงการฯ ในปี 2565 ที่มีผู้ประกอบการไทยจาก 17 บริษัทได้นำเสนอโมเดลธุรกิจต่อภาคเอกชน นำไปสู่การเจรจาจับคู่ธุรกิจร่วมลงทุนกว่า 176 ล้านบาท และขยายฐานลูกค้าและสร้างนวัตกรรมร่วม ได้กว่า 76.5 ล้านบาท

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจ SMEs ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โครงการดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ และเชื่อมโยงไปยังภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ช่วยขยายโอกาสทางการตลาด พร้อมนำพาภาคอุตสาหกรรมทั้งกระบวนการให้เติบโตไปด้วยกัน สามารถเพิ่มรายได้ให้ประเทศ รวมไปถึงกระจายรายได้ไปยังประชาชนในทุกกลุ่มธุรกิจได้อย่างครอบคลุม” นายอนุชา กล่าว

Advertisement