นักวิชาการแนะจัดตั้งรัฐบาลได้รวดเร็วหลังการเลือกตั้ง

86

business highlight online : 14 พฤษภาคม 2566 นักวิชาการแนะเร่งจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจและการลงทุน มุ่งปฏิรูปและปรับโครงสร้างใหม่รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล หวั่นนโยบายประชานิยมกระทบฐานะทางการคลัง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลอย่างรวดเร็วหลังการเลือกตั้งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุน รัฐบาลเสียงข้างมากในรัฐสภามีความสำคัญต่อการดำเนินการนโยบายสำคัญ ทั้งการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจ หลังจากได้จัดทำครั้งใหญ่หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ขณะนี้ต้องเริ่มมีขีดจำกัด จำเป็นต้องปฏิรูปและปรับโครงสร้างใหม่อีกรอบ รองรับการเติบโตใหม่ในทศวรรษหน้า รัฐบาลใหม่ต้องเอาใจใส่ควบคู่กับนโยบายประชานิยมและนโยบายสวัสดิการสังคม ซึ่งได้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้

ยอมรับว่านโยบายประชานิยมสวัสดิการจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปีตามโครงสร้างสังคมสูงวัย ตามสภาพ “กับดักประชานิยม” หากไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อขยายฐานรายได้ใหม่ ไทยอาจเผชิญปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังในอนาคต นโยบายและมาตรการบางอย่างที่หาเสียงไว้ อาจสร้างความอ่อนไหวทางการเมือง และความเสี่ยงฐานะทางการคลัง จึงต้องทบทวนให้เหมาะสมตามฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า รายย่อย เอสเอ็มอีจำนวนมากอาจไม่ได้สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ จึงต้องออกแบบให้สถาบันการเงินมีแรงจูงใจหรือช่วยให้ครัวเรือนที่มีศักยภาพใช้บริการได้อย่างสะดวก มุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างนวัตกรรมสร้างฐานเติบโตใหม่ หากรัฐบาลใหม่ต้องการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลาง โดยอาศัยการเติบโตภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลัก รัฐบาลใหม่ต้องเร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมให้มีความสามารถในแข่งขันสูงและมีผลิตภาพสูง มุ่งสนับสนุนการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ลดการทุจริตรั่วไหล

ส่วนอุตสาหกรรมที่ไทยมีผลิตภาพต่ำแข่งขันได้น้อย ควรใช้นโยบายเชิงรุก เช่น การให้สินเชื่อสนับสนุน การใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายใน และใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหากจำเป็น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้ง การปรับระบบภาษีเพื่อให้เกิดแรงจูงใจและความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นผ่านผลิตภาพสูงขึ้น

นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การถดถอยลงของภาคส่งออกจากการชะลอของเศรษฐกิจโลก รัฐบาลใหม่ต้องหันมาเอาใจใส่อย่างจริงจัง ด้วยการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ยอมรับว่าธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพสูงส่วนใหญ่เป็นโรงงานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติ ที่ใช้เทคโนโลยีและทุนจำนวนมาก ขณะที่ประสิทธิภาพการผลิตรวมของไทยขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1.2-1.3 ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยไทยยังใช้แรงงานเป็นหลัก เมื่อหลายประเทศก้าวข้ามพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลางไปแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทส่งเสริมและพัฒนาระดับความสามารถทางการผลิตของประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

นายอนุสรณ์ มองว่า การกดค่าแรงไม่ใช่นโยบายถูกต้อง ผู้ใช้แรงงานควรได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนแรกเข้าสูงขึ้น เป็นเพียงนโยบายช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งเท่านั้น จึงต้องมีมาตรการเชิงรุกมาใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ภาคการผลิตของเศรษฐกิจไทยไม่สามารถอาศัยแรงงานทักษะต่ำ ราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดยกระดับทักษะแรงงานเหล่านี้ ไทยต้องเร่งปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวให้มีมาตรฐานแสดงความมีศิวิไลซ์ของสังคมไทย

นายอนุสรณ์ กล่าวย้ำขอให้พรรคการเมืองรักษาสัญญาประชาคม 8 ข้อที่ให้ไว้กับประชาชน ผ่านองค์กรประชาธิปไตย และภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย พรรคการเมืองกว่า 30 พรรค ได้จัดทำ “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน” กับองค์กรประชาธิปไตยขึ้น โดยถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และพรรคการเมืองได้ให้คำมั่นว่าพรรคการเมืองที่ลงนามจะปฏิบัติตามสัญญาดังนี้

1) การเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มของพรรคการเมืองที่มีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2) เมื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจะนำนโยบายแต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการกันอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญแก่นโยบายร่วมกัน

3) การร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่

4) การสนับสนุนให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน

5) การดำเนินนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชนมีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นมากขึ้นอย่างเพียงพอ

6) การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายการดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจในการออม และสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม รวมถึงลูกจ้างส่วนราชการและลูกจ้างทำงานบ้าน เข้าสู่ระบบการประกันสังคมอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

7) การกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบเพื่อให้คุณหรือให้โทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้เคารพความเป็นกลางของข้าราชการประจำ

8) การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ให้ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นผู้นำทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหารพรรคการเมืองในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

พรรคการเมืองต่างๆ ที่มาร่วมลงนาม เชื่อว่าการปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ในที่นี้จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันพรรคการเมือง การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งแก่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

Advertisement