รมว.พณ.ระบุปีนี้เป็นปีทองเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ได้ราคาดีที่สุด

210

business highlight online : 24 มิถุนายน 2566 รมว.พาณิชย์ เผยปีนี้ถือเป็นปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ราคาผลไม้ดีที่สุดปีหนึ่ง ภาพรวมผลไม้ปีนี้ผลผลิตรวม 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% ตลาดสำคัญ คือ ตลาดในประเทศ 40% และตลาดส่งออก 60% ผลไม้ที่ครองตลาดส่งออกต่างประเทศสูงสุด คือ ทุเรียน 81% รองลงมา คือ ลำไย สับปะรด มะม่วง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์ผลไม้ภาคใต้ ปี 2566 ที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า สุราษฎร์ธานี อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับภาคเอกชน ล้ง ผู้ส่งออก และตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ภาคใต้ ปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ผลไม้ปีนี้ราคาดีที่สุดปีหนึ่ง ตั้งแต่มีประเทศไทยมา ทั้งภาคตะวันออกและภาคอื่นๆ รวมทั้งภาคใต้ที่ผลผลิตเริ่มออก ตั้งแต่เดือน มิ.ย. จนหมดฤดู ปีนี้ที่ราคาดีมาก เพราะเราสามารถควบคุมกำกับคุณภาพผลไม้ให้ได้มาตรฐานเป็นอย่างดี โดยเฉพาะที่ภาคตะวันออก เช่น ทุเรียน ปีนี้เกือบเรียกได้ว่าไม่มีทุเรียนอ่อน เกษตรกรและทุกฝ่ายช่วยกัน และมาตรการเชิงรุกที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ กำหนด 22 มาตรการได้ผลดีอย่างยิ่ง ทั้งกำกับการผลิตผลไม้ มาตรการบังคับใช้กฎหมาย ล้วนมีส่วนสำคัญให้ตลาดในประเทศและต่างประเทศคล่องตัว ราคาดีขึ้น

ทั้งนี้ ภาพรวมผลไม้ปีนี้ผลผลิตรวม 6.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% ตลาดสำคัญ คือ ตลาดในประเทศ 40% และตลาดส่งออก 60% ผลไม้ที่ครองตลาดส่งออกต่างประเทศสูงสุด คือ ทุเรียน 81% รองลงมา คือ ลำไย สับปะรด มะม่วง ตลาดสำคัญ 4 เดือนแรกปีนี้ ตลาดใหญ่ที่สุด 1.ตลาดจีน ครองตลาดส่งออกถึง 77% 2.สหรัฐอเมริกา 7% 3.ฮ่องกง 1.7% 4.มาเลเซีย 1.4% และ 5.ญี่ปุ่น 1% ปริมาณการส่งออกผลไม้ปีนี้ 4 เดือนแรก ส่งออกเพิ่มขึ้น 66% มูลค่า 1.03 แสนล้านบาท ผลไม้ส่งออกสำคัญ ทุเรียนส่งออกเพิ่มขึ้น 165% มังคุดเพิ่มขึ้น 1,057% ลำไยเพิ่มขึ้น 32% มาตรการสำคัญที่ส่งให้ราคาดีขึ้น เช่น มาตรการตลาดในประเทศ เพิ่มการบริโภคเกษตรกรระบายผลไม้รวดเร็ว การใช้ “อมก๋อยโมเดล” ของกรมการค้าภายใน หรือที่เรียกว่า “เกษตรพันธสัญญา” ทำการตลาดซื้อขายเซ็นสัญญาล่วงหน้า ตั้งเป้าปี 2566 ทั้งปีจะทำให้ได้ 100,000 ตัน ปรากฏว่า 4 เดือนแรก ทำไปแล้ว 240,000 ตัน ทำให้ราคาดีเป็นพิเศษ เพราะกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน ร่วมกับทุกฝ่ายเห็นผลเป็นรูปธรรม และตลาดต่างประเทศ ทูตพาณิชย์ทั่วโลกที่มีตลาดผลไม้เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการขายในห้างสรรพสินค้า พื้นที่ต่างๆ จะทำให้ครบ 40 กิจกรรมโดยเร็วที่สุด ตลาดใหญ่ของเราคือ ตลาดจีน สัดส่วนถึง 77%

“เราแก้ไขปัญหาระบบการขนส่งโลจิสติกส์ได้สำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งทางบกและทางเรือ ทางบกตนมอบปลัดกระทรวงพาณิชย์เจรจานายด่านจีน เวียดนาม ที่ด่านโหยวอี้กวน และที่เชียงของ ลาว ด่านโม่ฮาน ร่วมมือกัน ทำให้การส่งออกผ่าน 2 ด่านนี้ ที่เป็นด่านหลักทางบก คลี่คลาย ไม่มีรถติดขัด ผู้ส่งออกยืนยันว่า ปีนี้ไม่มีการจราจรติดขัดเลย ต่อไปถ้าเกิดปัญหา ปลัดกระทรวงพาณิชย์สามารถยกหูสายด่วนคุยกับนายด่านทั้ง 2 ด่านได้ทันที ทางเรือแก้ปัญหาร่วมกับเอกชน ในที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนตู้คอนเทนเนอร์พอใช้ เราปรับมาตรการให้เรือใหญ่ขนตู้จำนวนมากเข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบัง ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ส่งออกคล่องตัว และข้อสั่งการของตนขอให้ปฏิบัติ คือ 1. ล้งต้องไม่หยุดรับซื้อ ไม่กดราคาให้ซื้อผลผลิตคุณภาพจากเกษตรกรตามราคาตลาด จะช่วยให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน 2. กระทรวงเกษตรฯ ต้องเข้าไปกำชับดูแลการผลิตผลไม้ของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานคุณภาพ เช่น ไม่มีทุเรียนอ่อน ถ้าทำได้ทั้งหมด ตนยืนยันว่า ปีนี้ราคาผลไม้ภาคใต้จะดีที่สุดปีหนึ่งอีกเช่นเดียวกัน” นายจุรินทร์ กล่าว

สำหรับราคาปีนี้ ผลไม้ภาคตะวันออกหมดฤดูกาลแล้ว โดยทุเรียนเกรดส่งออกปีที่แล้ว 143 บาท/กก. ปีนี้ 172 บาท/กก. ราคาสูงขึ้น 20-41% เกรดคละปีที่แล้ว 78 บาท/กก. ปีนี้ 111 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 42% มังคุดเกรดส่งออก ราคาเพิ่มขึ้น 82-102% เงาะโรงเรียน ราคาเพิ่มขึ้น 100% จาก 18 บาท/กก. ปีนี้ 36 บาท/กก. และภาคใต้ ทุเรียนเกรดส่งออก ราคาเพิ่มขึ้น 7-8% ปีที่แล้ว 110 บาท/กก. ปีนี้ 120-130 บาท/กก. เกรดตกไซซ์ ราคาเพิ่มขึ้น 29% ปีที่แล้ว 64 บาท/กก. ปีนี้ 80-85 บาท/กก. มังคุดเกรดส่งออก ปีที่แล้ว 35-37 บาท/กก. ปีนี้ 53-108 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 90-173% เกรดคละ ปีที่แล้ว 25 บาท/กก. ปีนี้ 33-59 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 84% ภาคเหนือ มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออก ปีที่แล้ว 45 บาท/กก. ปีนี้ 50 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 11% และเกรดคละ ปีที่แล้ว 20 บาท/กก. ปีนี้ 30 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 50% มะม่วงมัน เกรดคละปีที่แล้ว 6 บาท/กก. ปีนี้ 10 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 67%

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ถือว่าเป็นปีทองสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไทย และขอให้ทุกฝ่ายควบคุมดูแลคุณภาพให้เคร่งครัด ส่วนราชการต่างๆ ร่วมมือกับภาคเอกชน เกษตรกรเร่งรัดการทำตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ ให้ได้ตามเป้าหมายมาตรการที่กำหนด 22 มาตรการเชิงรุกที่มีมติ ทุกอย่างจะดีสำหรับทุกฝ่าย เป็นต้น

Advertisement