ครม. ไฟเขียวแก้ปัญหารถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ผ่อนปรนเอกชนชำระค่าสัมปทาน

101

business highlight online : 27 มิถุนายน 2566 ครม. ไฟเขียวแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ผ่อนปรนชำระค่าสัมปทาน หวังให้เอกชนเดินหน้าสร้างรถไฟฟ้า

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบแผนแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามที่ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบ ด้วยการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ จากปัญหาโควิด-19 จนผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ จากเดิมเอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671 ล้านบาท ส่งให้ รฟท. ภายใน 2 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ ต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 1,060 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 11,731 ล้านบาท

โดยแบ่งชำระ ค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคม ของแต่ละปี โดยเอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนเกินจากที่ รฟท. ต้องชำระให้สถาบันทางการเงิน และกระทรวงการคลัง เป็นจำนวนเกินกว่าจำนวนเงินที่ รฟท. ได้รับชำระจากเอกชนคู่สัญญา ภายหลังจากการปรับวิธีการชำระเงินแล้ว กรณีเอกชนคู่สัญญาไม่ชำระค่าสิทธิ ARL ตามกำหนด โดยไม่มีสาเหตุอันสมควร จะถือเป็นเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญ และ รฟท. จะใช้สิทธิบังคับตามสัญญาร่วมลงทุนฯ  หากเอกชนคู่สัญญาได้รับรายได้ค่าโดยสาร ARL สูงกว่าประมาณการ รฟท. มีสิทธิเจรจาให้เอกชนคู่สัญญาชำระค่าสิทธิ ARL เร็วขึ้น หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอาจส่งผลต่อการให้บริการเดินรถและการบำรุงรักษา ARL ต้องหยุดชะงักลง และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของโครงการฯ ต่อสถาบันการเงินลดลงด้วย

สำหรับการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ เช่น โรคระบาดหรือโรคติดต่ออันตรายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน  ดังนั้นเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ด้วยกระบวนการบริหารสัญญา โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ จึงมีความจำเป็นต้อง เพิ่มแนวทาง การบริหารสัญญาเพื่อจัดการกับเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผันโดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ การประสานความร่วมมือระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ถึงวิธีการในการเยียวยา เช่น การขยายระยะเวลาโครงการฯและการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่เอกชนต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนรัฐเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาทางการเงินของโครงการฯ ทั้งนี้ รฟท. ยังมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาร่วมลงทุนฯเดิมทุกประการ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ทำให้บริการโครงการ ARL สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องโดยเอกชนคู่สัญญาสามารถชำระค่าสิทธิ ARL เพื่อรับสิทธิการดำเนินโครงการ ARL ต่อไปได้ และจะมีกลไกในการบริหารสัญญาเพื่อรับมือกับเหตุผ่อนผันและเหตุสุดวิสัยกับเหตุการณ์ในอนาคต รวมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชน คู่สัญญาเพื่อให้โครงการฯสามารถบรรลุวัตถุประสงค์โครงการตามสัญญาร่วมลงทุนฯ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/66 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและให้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้พิจารณาหลักเกณฑ์แสะเงื่อนไขให้รอบคอบครบถ้วน

Advertisement