กรมการค้าภายใน ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง กระทบกำลังซื้อ คุยผู้ผลิตขอไม่ปรับราคาสินค้า

83

business highlight online : 6 กรกฎาคม 2566 อธิบดีกรมการค้าภายใน ห่วงหนี้ครัวเรือนสูงกระทบกำลังซื้อ คุยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ช่วยตรึงและขอยังไม่ปรับราคาสินค้าขึ้น พร้อมส่งทีมออกตรวจสอบราคาสินค้าทั้งห้างและตลาดสดต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มีความเป็นห่วงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการบริโภคของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย ทางกรมการค้าภายในจึงได้มีการประสานความร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้า ห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านค้าส่งท้องถิ่น ในการกำกับดูแลราคาสินค้าที่มีความจำเป็นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยังขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าไว้ก่อน เพื่อช่วยในเรื่องของการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ขณะที่สถานการณ์ราคาสินค้าในภาพรวมเวลานี้ค่อนข้างทรงตัว มีความกังวลเพียงสินค้าเกษตรบางรายการที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลงราคาอาจมีการปรับสูงขึ้น อาทิ ปาล์มน้ำมัน ราคาขยับสูงขึ้นเล็กน้อย แต่มั่นใจว่า ปริมาณจะมีเพียงพอไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ โดยมีสต๊อกเพื่อความมั่นคงภายในประเทศอยู่ที่ 2.2-2.3 แสนตัน โดยกรมฯจะมีการบริหารจัดการผลผลิตให้สมดุล และมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาสินค้าในสัปดาห์นี้ ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาตันละ 11,650 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 10,600 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ นอกพื้นที่ราคา 14,600 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ราคาตันละ 13,200 บาท มันสําปะหลัง ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.50 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงเล็กน้อยแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงที่กิโลกรัมละ 11.33 บาท เนื้อหมูราคากิโลกรัมละ 138-140 บาท เนื้อไก่ น่องติดสะโพกกิโลกรัมละ 82 บาท สะโพก กิโลกรัมละ 86 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 ราคาฟองละ 4.80 บาท นอกจากนี้ในส่วนของราคาผักสดเริ่มปรับตัวลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เพราะเข้าฤดูฝน

นอกจากนี้ การรับซื้อผลไม้ภาคใต้ประจำสัปดาห์นั้น โดยผลจากตลาดส่งออกมีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไปรับซื้อทุเรียนและมังคุดในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดราคาทุเรียนเกรด AB ขยับขึ้นไปเป็นกิโลกรัม (กก.) ละ 145 บาท ตกเกรดอยู่ที่ กก.ละ 100 บาท โดยกรมฯ ขอให้เกษตรกรเน้นในเรื่องคุณภาพ อย่าตัดทุเรียนอ่อน เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับทุเรียนไทย และส่งผลดีต่อราคาที่ขายได้ และกรมฯยังจะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจังหวัด ดูแลเรื่องมาตรฐาน และการรับซื้อ ที่ต้องเป็นธรรม เพื่อดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิดด้วย

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตลาดส่งออกมีความต้องการเพิ่มขึ้นจริง โดยกรมฯ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบการส่งออกผลไม้ผ่านระบบราง ที่สถานีรถไฟมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง พบว่า มีความคึกคักมาก เพราะผู้ส่งออกหันมาใช้การส่งออกทางนี้มากขึ้น นอกเหนือจากการขนส่งทางบกและทางเรือ โดยช่วงครึ่งปี 2566 มีการส่งออกไปแล้ว 2,124 ตู้ เทียบกับปี 2565 ทั้งปีส่งออกเพียง 512 ตู้ ถือเป็นทิศทางที่ดีขึ้น และได้รับการยืนยันจากผู้ส่งออกว่าจะส่งออกทางนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะการขนส่งทางระบบราง มีความรวดเร็ว ตู้สินค้าไม่ต้องไปเข้าคิวติดที่ด่าน เหมือนการขนส่งทางบก และตู้ขนส่งก็เป็นระบบควบคุมอุณหภูมิ ทำให้ผลไม้ยังสด เมื่อไปถึงปลายทาง และใช้เวลาลดลงจากเดิม 11 วันเหลือ 6 วันทำให้ตลาดจีนหันมานิยมขนส่งทางนี้มากขึ้น ขณะที่ มาตรการดูแลผลไม้ภาคใต้ ที่กำลังออกสู่ตลาด กรมฯ ได้ประสานผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 5 ราย ได้แก่ บริษัท ไอริส กรุ๊ป จำกัด , บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชัน จำกัด บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สมาร์ท เซอร์วิส แมเนจเม้นท์ (AP) จำกัด และได้เพิ่มมาอีก 1 ราย คือ เสนาเพลส เข้ามาช่วยเปิดพื้นที่ในหมู่บ้านและคอนโดมิเนียม ให้นำผลไม้เข้าไปจำหน่าย เป้าหมาย 5 หมื่นครัวเรือน ปริมาณ 5,000 ตัน

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ผลไม้ภาคใต้ออกสู่ตลาดแล้ว 35-45% แล้วแต่ชนิดโดยสถานการณ์ราคาดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่กรมฯ ได้ประสานผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก โรงงานแปรรูป ห้างค้าส่งค้าปลีก พ่อค้าส่ง เข้าไปรับซื้อ อย่างทุเรียน เกรด AB ราคา 130-145 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.2566 ที่ 115-125 บาทเกรด C ราคา 95-105 บาท เกรด D ราคา 90 บาท มังคุด เกรดมันรวม ราคา 53-109 บาท เกรดคละ ราคา 28-30 บาท เงาะโรงเรียน ราคา 33-35 บาท เกรดสีทอง ราคา 26-27 บาท

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผลไม้ที่ยังไม่ออกสู่ตลาด กรมฯ ได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งการประสานผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ เข้าไปรับซื้อ การใช้มาตรการเสริมเร่งระบายผลไม้ โดยทุเรียนไม่น่าเป็นห่วง ตอนนี้ตลาดต้องการมาก ทั้งในประเทศและส่งออก เงาะก็ออกแล้ว 50% พ่อค้าเข้าไปแย่งกันซื้อผลผลิตที่เหลือ ส่วนมังคุดใน จ.นครศรีธรรมราช และ 3 จังหวัดภาคใต้ จะเริ่มออกเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ เกรดรวม ไม่น่าจะมีปัญหา เกรดคละ หากออกมาก ก็มีมาตรการเสริมเข้าไปดูแล เช่น การระบายผ่านโครงการอสังหาริมทรัพย์ การระบายผ่านห้างท้องถิ่นที่มี 600 สาขา ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ 5,000 สาขา และโมบายพาณิชย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 100 จุด เป็นต้น

Advertisement