business highlight online : 6 กรกฎาคม 2566 FETCO เผยดัชนีเขื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” หวังตั้งรัฐบาลสำเร็จ-ท่องเที่ยวฟื้นหนุนเศรษฐกิจ ปัจจัยฉุดคือความไม่แน่นอนจัดตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งระหว่างประเทศ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ผลสำรวจในเดือนมิถุนายน 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายน 2566) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 81.62 ปรับขึ้นเล็กน้อย 5.1% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ โดยนักลงทุนมองว่า การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือ ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล รองลงมา คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และ เงินทุนไหลออก
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน สำรวจในเดือนมิถุนายน 2566 ได้ผลสรุปดังนี้
– ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กันยายน 2566) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (ช่วงค่าดัชนี 80-119) เพิ่มขึ้น 5.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 81.62
– ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”
– หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK)
– หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ (STEEL)
– ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
– ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนผลสำรวจรายกลุ่มนักลงทุน พบว่ามีเพียงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้น 33.3% อยู่ที่ระดับ 100.00 ในขณะที่กลุ่มอื่นปรับลดลง โดยนักลงทุนบุคคลปรับลด 10.6% อยู่ที่ระดับ 65.81 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลง 50.0% อยู่ที่ระดับ 50.0 และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 6.5% อยู่ที่ระดับ 85.71
นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า SET Index ในครึ่งแรกของเดือน มิ.ย.66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดหุ้นโลก โดยได้รับแรงหนุนจากการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของเดือน SET Index ปรับตัวลงมากกว่าตลาดหุ้นอื่นทั่วโลกจากความกังวลต่อปัญหาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ไม่มีความชัดเจน ปัญหากรณี บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน รวมถึงแรงขายสุทธิต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และความกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลกหลังเฟดประกาศจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้และธนาคารกลางอังกฤษ ปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bps ปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้ SET Index หลุดกรอบ 1,500 ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี ก่อนกลับมาปิดที่ 1,503.10 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 โดยปรับตัวลดลง 2.0% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,623 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 8,616.88 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 105,622.96 ล้านบาท
โดยปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การส่งสัญญาณของเฟดที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักอีกหลายประเทศ อาทิ ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางอังกฤษ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน อีกทั้งเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง
ส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎร และความมีเสถียรภาพในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินและเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคการส่งออกของไทยที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายใหม่ คือ เสถียรภาพของรัฐบาล และ ความท้าทายทางเศรษฐกิจ คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี โอกาสธุรกิจของภูมิภาคกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป และ ความเสื่อมถอยลงของสหรัฐอเมริกา โดยในส่วนโอกาสธุรกิจในภูมิภาคที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปนั้น มองว่า 3 รัฐมนตรีใหม่ คือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลบีโอไอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้ามาจะทำงานเข้าขากันได้หรือไม่ ถ้าทำงานเข้าขากันได้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีของไทยในเวทีโลกและอาเซียน
Advertisement