business highlight online : 14 กรกฎาคม 2566 ผู้ว่าการ ธปท. ขอร่วมมือ “นายแบงก์” ร่วมแก้หนี้ครัวเรือน ย้ำการเงินไทยมีเสถียรภาพ-ทำงานได้ดี ด้านโฆษก ธปท. ระบุตามติดการจัดตั้งรัฐบาล ภาพรวมยังเชื่อมั่นการลงทุนยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานมอบรางวัลเกียรติยศ ‘Money & Banking Awards 2023’ ว่า หากมองย้อนหลังกลับไป เราผ่านอะไรต่างๆ มาค่อนข้างมาก เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของโลกพร้อมๆ กันในระดับที่สูงอย่างที่ไม่เคยได้เห็นกันมานานแล้ว อย่างไรก็ดี เราสามารถผ่านเรื่องเหล่านั้นมาได้ค่อนข้างดี โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้เราผ่านไปได้ เป็นเพราะระบบสถาบันการเงิน ตลาดเงินและตลาดทุน ที่มีทั้งเสถียรภาพและสามารถทำงาน (function) ได้ดี
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าระบบการเงินของไทยมีเสถียรภาพและทำหน้าที่ได้ดี เช่น ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ซึ่งก่อนเกิดโควิด หนี้เสียอยู่ที่ 3% และเพิ่มขึ้นเป็น 3% กว่าในช่วงโควิดนั้น ขณะนี้หนี้เสียลดลงต่ำกว่า 3% แล้ว ขณะที่ตัวเลข BIS ratio (เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง) ของระบบธนาคารพาณิชย์ที่เคยอยู่ที่ 19% ในช่วงก่อนโควิด และลดลงบ้างในช่วงโควิด แต่สุดท้าย BIS ratio ก็กลับมาอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 19% และการปล่อยสินเชื่อยังขยายตัวได้
“ไม่ใช่แค่เรื่องเสถียรภาพเท่านั้น การ function (การทำงาน) ของระบบการเงินที่ดี ช่วยให้เราผ่านวิกฤติไปได้ดี ตัวอย่างเช่น การทำงานของกระบวนการให้สินเชื่อยังเป็นปกติ เพราะอย่างที่ทราบกันดี ตอนที่เศรษฐกิจชะลอตัว อัตราการขยายตัวของสินเชื่อจะชะลอตัวลง แต่ในช่วงโควิดและในช่วงลำบาก ถึงแม้จีดีพีจะโตไม่ค่อยดี แต่ได้เห็นการเติบโตของสินเชื่อในช่วงปี 63-64 อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับในอดีต และสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านของเรา รวมทั้งเห็นการช่วยดูแลลูกหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ทั้งหลายพวกนี้ สะท้อนถึงการทำงานร่วมกันอย่างดี เพื่อเผชิญอุปสรรคต่างๆ ที่เราเจอที่ผ่านมา”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เมื่อมองไปข้างหน้า เรื่องภัยการเงินจะเป็นเรื่องที่อยู่กับเราอีกยาวนาน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินในการออกมาตรการต่างๆ แต่เนื่องจากภัยทางการเงินมีวิวัฒนาการตลอดเวลา และไม่หยุดนิ่ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเพิ่มเติม และทำงานร่วมกันก็ยังมีอยู่ อีกทั้งมีอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข คือ เรื่องหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
“อีกหนึ่งปัญหาที่อยู่กับเรา และต้องแก้ไข คือ เรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับที่สูง ซึ่งเป็นความท้าทาย แต่ผมเชื่อว่า เหมือนกับในอดีตที่เราทำงานร่วมกันมาอย่างดี ถ้าเราทำงานร่วมกันต่อไป เราจะแก้ไขและก้าวข้ามอุปสรรคพวกนี้ต่อไปได้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าวกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินต่างๆ ที่เข้าร่วมพิธีรางวัลเกียรติยศ ‘Money & Banking Awards 2023’ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.66
ทั้งนี้ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รับรางวัลนักการเงินแห่งปี 2565 ธนาคารไทยพาณิชย์ ครองธนาคารแห่งปี 2566 ด้านบริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2566 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย-บมจ.บ้านปู/ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ-บมจ.เอ็กโซติค ฟู้ด ขณะที่ บล.กสิกรไทย ครองบริษัทหลักทรัพย์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2566 พร้อม 10 กองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2566 และ 21 รางวัลบูธสวยงามยอดเยี่ยม งานมหกรรมการเงิน Money Expo 2023
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษก ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้ประเมินได้ยาก เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะยังไม่รู้ว่าจะได้ตัวนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อไร ตอนนี้คงต้องติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค.นี้ จะสำเร็จเสร็จสิ้นลงได้หรือไม่ ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐปี 2567 ซึ่งในส่วนของรายจ่ายประจำยังมีงบกลางที่ใช้ดำเนินการไปพลางได้ อาจไม่ได้ติดขัดมาก แต่จะส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงยังไม่สามารถมีโครงการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ แต่ในแง่ของความเชื่อมั่นในการลงทุนยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะดูจากข้อมูลเบื้องต้นก็ยังพบว่ามีความเชื่อมั่นอยู่ ซึ่งจากการเปรียบเทียบในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมีความวุ่นวายทางการเมือง มีการประท้วงในสถานการณ์ต่างๆ ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากนัก ยกเว้นหากเกิดความรุนแรงยืดเยื้อลากยาว จนกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ทำการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจากหลายๆ กรณีแล้วว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งปัจจุบัน ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.6% ในปี 66 และขยายตัวเป็น 3.8% ในปี 67
Advertisement