เตรียมจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 เปิด 12 อุตสาหกรรมดึงนักทุน

79

business highlight online : 17 สิงหาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผนึกความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ), หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน EEC Cluster Fair 2023 งานแสดงศักยภาพการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี ชู 5 คลัสเตอร์ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ สร้างโอกาสเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการและดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก โดยมีหมุดหมายที่สำคัญให้พื้นที่ อีอีซี เป็น “จุดหมายในการลงทุนใหม่ของประเทศ” ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า อีอีซี ตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศให้ได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ภายในช่วงปี 2565-2570 โดยขณะนี้ได้เดินหน้าผลักดันการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยแผนงานการสร้างการรับรู้นโยบายในวงกว้าง ด้วยการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือการจัดโรดโชว์ต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้ขายในพื้นที่ได้เชื่อมต่อกับผู้ซื้อทั้งจากไทยและต่างชาติ โดยการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าวจะดำเนินการในเชิงบูรณาการกับภาคีเครือข่ายธุรกิจชั้นนำของไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของการจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ครั้งแรก ในพื้นที่ อีอีซี

“เราเชื่อมั่นว่าในปี 2566 นี้ จะเป็นปีแห่งการลงทุน โดยเฉพาะการจัดคลัสเตอร์แต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้มีการเจรจาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มขึ้น และเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสื่อสารยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการทำงานของ สกพอ. ต่อไป รวมถึงปูพรมไปสู่การจัดงาน EEC Fair ในปี 2568” นายจุฬา กล่าว

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า การจัดงานร่วมกับภาคีในครั้งนี้จะเป็นแรงส่งให้สิ่งที่ทีเส็บผลักดันในเมืองพัทยาได้รับการต่อยอด โดยเฉพาะการสร้างจุดขายใหม่ของเมืองพัทยาในฐานะเมืองที่มีโอกาสทางธุรกิจและการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของอีอีซี และจะใช้จุดขายนี้ในการทำการตลาดต่างประเทศและการตลาดในประเทศให้เมืองพัทยา เพราะเชื่อว่าจุดขายเชิงธุรกิจที่ชัดเจนนี้จะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับจุดขายเชิงอินเซนทีฟและเทศกาลที่มีอยู่เดิมหรือทำให้ภาพความเป็นเมืองไมซ์ของพัทยามีน้ำหนักมากขึ้น ครอบคลุมทั้งการประชุมนานาชาติ งานแสดงสินค้า การประชุมองค์กร การเดินทางเพื่อเป็นรางวัลและงานเทศกาลนานาชาติ

นางสาวอรพินท์ เสริมประภาศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส.อ.ท. พร้อมนำโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Model และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ด้านการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรที่สามารถเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ และยังนำโครงการ SAI (Smart in the City) ที่กำลังขยายไปยัง 5 ภาคและแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับภาคการเกษตร และยังส่งผลดีต่อการตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่เป็นปัญหาระดับโลก

นายจิตรกร เผด็จศึก กรรมการหอการค้าไทย ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 และประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า พร้อมนำนโยบายใหม่ที่มาจากพลังเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและการค้า ตามแนวทางหลัก คือ Connect, Competitive, Sustainable มาร่วมจัดแสดงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคการค้าและธุรกิจในพื้นที่

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า GDP หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว ซึ่งพื้นที่ อีอีซี ถือเป็นอีกจุดยุทธศาสตร์ในการเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว มั่นใจว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ อีอีซี เป็นจุดแข็งที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ยกระดับการพัฒนาชุมชนควบคู่ไปกับการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม

Advertisement