พาณิชย์เผยเงินเฟ้อ ส.ค. ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.88

59

business highlight online : 5 กันยายน 2566 ก.พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือน ส.ค. สูงขึ้นร้อยละ 0.88 จากราคาน้ำมันแพง ต่ำสุดในอาเซียน ราคาอาหารชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนประกอบอาหารราคาลดลง คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 66 ร้อยละ 1.0-2.0

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนสิงหาคม 2566  สูงขึ้นร้อยละ 0.88  เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 0.38 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงาน  ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกเกือบทุกประเภท  ยกเว้นกลุ่มดีเซลราคาปรับลดลง รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ อาทิ เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง และรถเมล์เล็ก/สองแถว ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย กระดาษชำระ ยาสีฟัน) ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง  ส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาโดยรวมชะลอตัวต่อเนื่อง

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ  พบว่า อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ยกเว้นบางประเทศประสบปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศแปรปรวน อาทิ อินเดีย อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม)

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค. – ส.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.01 (AoA)  อยู่ในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด (ร้อยละ 1.0 – 3.0) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกันยายน 2566 มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ความต้องการ อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น

รวมทั้งฐานการคำนวณในเดือนกันยายน 2565 ที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อทรงตัวและเพิ่มขึ้นไม่มาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้ และส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพ และการลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ (ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 1.0 – 2.0 (ค่ากลางร้อยละ 1.5) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนสิงหาคม 2566 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 53.4 จากระดับ 53.3 ในเดือนก่อนหน้า จากการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สาเหตุคาดว่ามาจาก เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ การจัดตั้งรัฐบาลที่มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชน  โดยยังต้อง ติดตามราคาพลังงาน สินค้าและบริการ  ยังอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยทอนความเชื่อมั่นของประชาชน

Advertisement