วิเคราะห์ ทำไมเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว – และทิศทางต่อไปคืออะไร

126

business highlight online : 9 กันยายน 2566 การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัว ขณะที่ หน่วยงานรัฐบาลผู้กำหนดนโยบายต่าง ๆ พยายามหาทางแก้ไขขาลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ ในช่วงที่ปัญหาการดำเนินธุรกิจของบริษัท คันทรีย์ การ์เดน (Country Garden) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศยังคาราคาซังอยู่

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกอาจกำลังเข้าใกล้จุดวิกฤตในเร็ว ๆ นี้แล้วหรือไม่

อะไรทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว

สถานการณ์ในจีนนั้นต่างจากในแถบตะวันตกไม่น้อย เพราะผู้บริโภคจีนนั้นเป็นไปในแบบที่ต้องดูแลตัวเอง โดยรัฐไม่ได้เข้าช่วยเหลือมากมาย โดยเฉพาะในช่วงเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และหลังวิกฤตดังกล่าวสร่างซาไป ชาวจีนก็ไม่ได้ออกมาใช้เงินในแบบที่เรียกว่า ควักเงินจ่ายล้างแค้น (revenge spending) อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์บางรายคาดว่าจะเกิดขึ้นทันทีที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งสั่งเปิดประเทศอีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น ความต้องการสินค้าจีนจากต่างประเทศก็อ่อนตัวลงต่อเนื่อง เพราะบรรดาประเทศคู่ค้าหลัก ๆ ต่างมีปัญหากับค่าครองชีพที่พุ่งสูง

และเพราะราว 70% ของความมั่งคั่งของครัวเรือนจีนนั้นผูกติดกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาวะขาลงของธุรกิจนี้จึงส่งผลกระทบแบบโดมิโนไปยังส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจไปโดยปริยาย

ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่ผ่านมากับปัจจุบันต่างกันหรือไม่ อย่างไร

เมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008-2009 และเหตุการณ์ไหลออกของเงินทุนในปี ค.ศ. 2015 รัฐบาลจีนสามารถเร่งฟื้นฟูความมั่นใจของประชาชนด้วยมาตรการกระตุ้นแบบฉับพลันผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมให้มีการเก็งกำไรตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

แต่การยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานนั้นกลับนำมาซึ่งภาระหนี้ที่สูงเกินรับ และท้ายสุดก็เกิดภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินในทุกวันนี้

และเพราะการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีนใช้การกู้ยืมเงินมาสนับสนุน ขณะที่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวจนถึงจุดสูงสุดแล้ว และภาคการส่งออกก็ชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก รัฐบาลกรุงปักกิ่งมีทางเดียวที่จะพึ่งเพื่อมาหนุนนำเศรษฐกิจของประเทศ และนั่นก็คือ การบริโภคภาคครัวเรือน

แต่ในกรณีของสถานการณ์ปัจจุบัน ภาวะชะลอตัวที่เกิดขึ้นต่างจากที่กล่าวมาข้างต้น

การที่จีนจะกลับมาฟื้นตัวได้สำเร็จหรือไม่ในครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ว่า รัฐบาลปักกิ่งจะสามารถโน้มน้าวให้ภาคครัวเรือนยอมใช้จ่ายมากกว่าที่เป็นอยู่และออมให้น้อยลงได้หรือไม่ และจะยอมเดินหน้าทำการดังกล่าวจนทำให้ความต้องการผู้บริโภคสูงจนชดเชยภาวะอ่อนตัวต่าง ๆ ของเศรษฐกิจของประเทศเลยหรือไม่

ทำไมภาวะการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลงจึงเป็นปัญหา

ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงภาวะอ่อนตัวในจีนทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางรายเริ่มออกมาพูดถึงความเสี่ยงที่จีนจะต้องรับมือและข้ามผ่านเพื่อให้อัตราการขยายตัวไปถึงเป้าหมาย 5% ในปีนี้โดยรัฐบาลไม่ต้องควักเงินออกมาช่วยกระตุ้นเลย

ทั้งนี้ เป้าหมายจีดีพีที่ 5% นั้นยังสูงกว่าที่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำหลายประเทศตั้งให้ตนเอง แต่เนื่องจากจีนนั้นใช้งบราว 40% ของจีดีพีในแต่ละปีเพื่อนำไปลงทุนในประเทศ ซึ่งสูงกว่างบของสหรัฐฯ ถึง 2 เท่า นักเศรษฐศาสตร์มองว่า เป้าหมายที่ว่านี้เป็นตัวเลขที่น่าผิดหวังอยู่ดี

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังครั้งใหญ่ เพราะปัจจุบัน กรุงปักกิ่งยังมีปัญหาภาระหนี้ในระดับเทศบาลที่สูงค้ำคออยู่

ภาวะกดดันในตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเรื่อยว่า รัฐบาลอาจไม่สามารถพยุงการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ให้ลดลงต่อไปได้อีก

นักเศรษฐศาสตร์บางรายเตือนด้วยว่า นักลงทุนจะค่อย ๆ เริ่มคุ้นกับตัวเลขจีดีพีที่ต่ำไปเรื่อย ๆ ขณะที่ บางรายมองโลกในแง่ร้ายยิ่งกว่าและชี้ว่า จีนอาจตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเหมือนญี่ปุ่นในอนาคตก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน บางรายกล่าวว่า ผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากอาจจะรู้สึกเหมือนว่า จีนกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วก็เป็นได้ เมื่อดูจากอัตราว่างงานที่สูงกว่า 21% และแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดต่ออัตรากำไร (profit margin) ของธุรกิจ

การลดดอกเบี้ยจะช่วยได้หรือไม่

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของจีนหลายแห่งประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากที่เป็นสกุลเงินหยวน เพื่อบรรเทาแรงกดดันต่ออัตรากำไรของตน และเพื่อเปิดทางให้ธุรกิจได้ลดต้นทุนการกู้ยืมให้กับผู้กู้ ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการซื้อบ้านด้วย

และขณะที่ สมาชิกรัฐสภาจีนหวังว่า อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การลดดอกเบี้ยเงินฝากกลับจะทำให้เกิดการกู้เงินเพิ่มขึ้นและการเก็บออมลดลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญในระยะยาวมากเท่ากับการโอนถ่ายเงินทุนจากภาครัฐไปยังภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยยังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงของการอ่อนค่าของเงินหยวนและการไหลออกของเงินทุนซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลปักกิ่งพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด

ธนาคารกลางจีนเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ด้วยว่า จะมีการประกาศลดปริมาณเงินตราต่างประเทศที่สถาบันการเงินต้องถือครองไว้เป็นเงินทุนสำรองเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพื่อรับมือกับแรงกดดันต่อเงินหยวน

รัฐบาลจีนทำอะไรได้อีกบ้าง

นักเศรษฐศาสตร์ต้องการให้รัฐบาลปักกิ่งดำเนินมาตรการที่จะมากระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนให้มีสัดส่วนในจีดีพีที่สูงขึ้น

คำแนะนำอื่น ๆ ก็มีอาทิ การออกบัตรกำนัลผู้บริโภคที่รัฐบาลช่วยออกเงินสนับสนุน การลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญ การสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างรวดเร็ว การสร้างระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่เน้นการจัดบำนาญขั้นสูง สวัสดิการการว่างงาน และบริการสาธารณที่ดีขึ้นและประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี ในการประชุมผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ไม่ได้มีการหยิบยกมาตรการใด ๆ ดังที่นักเศรษฐศาสตร์แนะนำไว้ขึ้นมาหารือเลย แต่หลายฝ่ายก็ยังหวังว่า ในการประชุมสำคัญของพรรคในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการดำเนินการปฏิรูปที่มีนัยและนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมกว่าที่เคยเสียที

ที่มา: รอยเตอร์

Advertisement