ผู้ว่า ธปท. หารือนายกฯ ห่วงเสถียรภาพ “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ลั่นถ้าออกมาเป็นดิจิทัลแอสเซ็ท ก็ไม่สนับสนุน

62

business highlight online : 15 กันยายน 2566 ผู้ว่าการ ธปท. หารือนายกฯ ห่วงเสถียรภาพมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จับตารูปแบบนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ชี้ดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจแล้ว

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลถึงข้อระมัดระวังของ ธปท. ว่าไทยต้องให้ความสำคัญเรื่องเสถียรภาพหลายมิติ ที่กังวลเป็นพิเศษ คือ เสถียรภาพการคลัง ธปท.จึงต้องดำเนินนโยบายเสถียรภาพอยู่ สำหรับนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ได้แลกเปลี่ยนถึงความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพ ยังต้องติดตามรูปแบบที่ออกมา เพราะยังไม่มีความชัดเจน และถ้าทำรูปแบบเฉพาะกลุ่ม จะประหยัดงบประมาณได้มากกว่า

“เงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบ ยังขาดความชัดเจน ถ้าออกมาเป็นดิจิทัลแอสเซ็ท ก็ไม่สนับสนุน เพราะจะเป็นตัวกลางชำระเงิน ไม่เอื้อเสถียรภาพ ถ้าเป็นอี-มันนี่ ก็เป็นรูปแบบที่มีอยู่ในระบบปัจจุบัน ถ้าเป็นแบบนั้น ต้องดูว่าไปเกิดอุปสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบการคลังอย่างไร” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ส่วนมาตรการพักหนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะทำ มองว่าการพักหนี้ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลัก และไม่ควรเป็นวงกว้าง ซึ่งได้แสดงความกังวลต่อรัฐบาลไป โดยการพักหนี้ในวงกว้างไม่เหมาะสม แต่จำเป็นในช่วงจังหวะเหมาะสมชั่วคราว เช่น ช่วงโควิดถูกล็อกดาวน์เพราะได้รับผลกระทบ ซึ่งการพักหนี้ทุกคนไม่เหมาะ เพราะผลข้างเคียงเยอะ หนี้เกษตรกรบางกลุ่มมีศักยภาพ ปิดจบหนี้ได้ ชำระแล้วให้มีแรงจูงใจทำต่อ แต่บางกลุ่มหนี้เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรัง ปิดจบยาก โดย ธปท.แสดงความเป็นห่วง ซึ่งรัฐบาลได้รับฟัง แต่เรื่องนโยบายเป็นอย่างไร อยู่ที่การตัดสินใจ

นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลกับนายกฯ เรื่องการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แม้จะขยายตัวแค่ 1.8% ในไตรมาส 2/66 แต่การเติบโตที่ผ่านมา การบริโภคฟื้นตัวได้ดี 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ยังขาดเรื่องการลงทุน ที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งภาพฟื้นตัวเศรษฐกิจ การกระตุ้นประเภทอื่นสำคัญกว่า

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงต้นไตรมาส 4 ปีนี้ ธปท.จะออกแนวทางสอดคล้องกับ financial landscape เช่น การทำโครงสร้างพื้นฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลให้มาตรฐานกลาง เช่น ธนาคาร การชำระค่าไฟ ค่าน้ำ มีข้อมูลอื่นที่นอกเหนือจากรายได้ เพื่อใช้ประกอบขอสินเชื่อ ช่วยลูกค้าได้สินเชื่อสะดวกขึ้น

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อ มองว่ายังมีโอกาสเพิ่มขึ้นอยู่ จากความเสี่ยงด้านพลังงานโลก และจากเอลนีโญ ที่ทำให้ราคาอาหารสูง โดยต้องดูนโยบายการเงินสอดคล้องภาพระยะยาว ดูเงินเฟ้อในกรอบยั่งยืน 1-3% ไม่สร้างพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงช่วงดอกเบี้ยต่ำ ยอมรับว่าดอกเบี้ยใกล้ถึงจุดที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจแล้ว ทั้งนี้ ธปท.ต้องดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เศรษฐกิจโตตามศักยภาพ เงินเฟ้อ ต้องทำตามกรอบ การมีเสถียรภาพด้านการเงินเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นต่อเศรษฐกิจ ย้ำว่าดอกเบี้ยที่พูดถึงไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ไทยต้องทำให้ดอกเบี้ยแลนดิ้งสอดคล้องกับภาพระยะยาว หมายถึงตอนนี้ถอนคันเร่งออก ไม่ถึงกับเหยียบเบรก

Advertisement