ส.อ.ท.แจงราคาสินค้าจะลดลงตามค่าไฟ-น้ำมัน หรือไม่ต้องดูสตอกวัตถุดิบ

131

business highlight online : 19 กันยายน 2566 ส.อ.ท. แจงราคาสินค้าจะลดลงตามค่าไฟ-น้ำมัน หรือไม่ต้องดูสตอกวัตถุดิบ ชมเปราะนายกฯ ทำดี ส่วนค่าแรง 400 บาท เชื่อว่าต้องพิจารณารอบคอบผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ด้าน กกพ. หารือ ปตท.-กฟผ. รับภาระต้นทุนค่าไฟที่ลดลงให้ประชาชนไปก่อน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 ที่เห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 66 เพิ่มเติมจากมติ ครม.นัดแรก 13 ก.ย. 66 จากอัตราเรียกเก็บ 4.10 บาทต่อหน่วย เหลือเป็น 3.99 บาทต่อหน่วย ว่า เป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์สำหรับภาคเอกชน เพราะก่อนหน้านี้ทางภาคเอกชนเองเรียกร้องการปรับลดลงจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศที่อัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ให้เหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย และล่าสุดทางนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งเป้าหมายระยะต่อไปที่จะให้เหลือ 3 บาทต่อหน่วย หากดำเนินการได้จริงจะยิ่งเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย

“ขอขอบคุณนายกฯ ที่สมกับเป็นนักธุรกิจที่แก้ปัญหาอย่างตรงจุด เพราะการลดค่าไฟจะเป็นการลดค่าครองชีพประชาชน ลดต้นทุนภาคธุรกิจให้กับผู้ผลิตสินค้าที่จำหน่ายในประเทศแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ และการส่งออกจะเพิ่มขีดแข่งขัน ที่สำคัญคือการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนสเต็ปต่อไปอยากให้รัฐบาลปรับโครงสร้างพลังงานภาพรวมที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยมีความยั่งยืน ไม่ใช่ต้องมาคอยแก้ไขปัญหาทีละจุดเช่นปัจจุบัน” นายเกรียงไกร กล่าว

ส่วนต้นทุนพลังงานทั้งดีเซลที่ลดลงวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) 3 บาทต่อลิตร ค่าไฟที่ปรับลดลงนั้น ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ในส่วนของราคาสินค้าจะลดลงหรือไม่นั้น ต้องเข้าใจโครงสร้างต้นทุนการผลิตแตกต่างกัน ต้องดูจากสตอกวัตถุดิบด้วย ซึ่งสินค้าประเภทอุปโภคที่เป็นอาหารสดซึ่งเป็นเรื่องปากท้องชาวบ้านโดยตรง ที่ผ่านมาเมื่อต้นทุนเพิ่มได้มีการปรับขึ้น เช่น อาหารจากจานละ 50 บาท เป็นจานละ 60-70 บาท โดยอาหารเหล่านี้จะสตอกสินค้า 1-3 วันเหล่านี้ สามารถลดราคาลงได้ภายใน 15 วันทันที

แต่สินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมแต่ละประเภทจะต่างกันไป ทั้งภาวะการแข่งขันและสตอกวัตถุดิบ โดยหากเป็นการใช้วัตถุดิบในประเทศจะมีอัตราการสตอกวัตถุดิบเฉลี่ย 30-60 วัน กรณีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเฉลี่ยจะสตอกราว 90-100 วัน ดังนั้น การปรับราคาสินค้าจะเป็นไปรอบตามสตอกวัตถุดิบที่จะทยอยปรับลดลง

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำที่ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ระบุว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันนั้น ประธาน ส.อ.ท. เข้าใจว่ารัฐบาลได้ลดค่าพลังงานเพื่อลดรายจ่ายก็ต้องการเพิ่มรายได้อีกส่วนหนึ่ง แต่รายละเอียดยังไม่ได้ชัดเจน เพราะทางนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างที่เป็นไตรภาคี รวมถึง ส.อ.ท. ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ได้ชี้แจงแล้วว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรดำเนินการภายใต้กลไกไตรภาคี ซึ่งก็เห็นตรงกัน และหากขึ้นไม่ควรจะกระชากแรงจนกระทบต่อต้นทุน จนผู้ประกอบการรับไม่ไหว และเข้าใจว่า 400 บาทต่อวัน น่าจะเป็นการปรับขึ้นบางจังหวัด และตามประเภทอาชีพบางอาชีพ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า กกพ. กำลังพิจารณารายละเอียดมติ ครม. ที่ปรับลดค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยก่อน พร้อมทั้งเตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. หากมีความชัดเจน โดยจะหารือต่อเนื่องในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) ว่าจะดำเนินการอย่างไร และหลังจากนั้นจะนำเสนอเข้าบอร์ด กกพ. ต่อไป

ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุจะดำเนินการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคิดราคาก๊าซธรรมชาติ Pool gas ให้ไม่เกินค่าประมาณการคงที่ประมาณ 305 บาทต่อล้านบีทียู และให้นำส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บไปทยอยเรียกเก็บคืน ซึ่งจะทำให้ปรับลดราคาค่าไฟฟ้าลงได้อีก และจะช่วยเหลือส่วนลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมให้แก่กลุ่มเปราะบาง อาทิ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือนอีกด้วย

Advertisement