9 ธุรกิจเด่นในปี 67 ภาคท่องเที่ยวและบริการเติบโตแรงสุด

42

Business Highlight Online : 15 ธันวาคม 2566 อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุ 4 กลุ่ม 9 ธุรกิจโดดเด่นในปี 67 โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและบริการเติบโตมาแรงสุด คาดจะมียอดจดทะเบียนตั้งใหม่ถึงเกือบ 1 แสนราย เตรียมแผนงานเดินหน้าส่งเสริมธุรกิจให้เติบโตยั่งยืนไปพร้อมสร้างธรรมาภิบาลต่อภาคธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะปีหน้าเน้นตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี มีมากถึง 26,000 ราย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้นำข้อมูลจากคลังข้อมูลธุรกิจมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจเชิงลึก เพื่อเฟ้นหาธุรกิจดาวเด่น และธุรกิจสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย สำหรับปี 25667 พบว่าปี 2567 ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามอง แบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ 9 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลดีจากปัจจัยบวกในการเปิดประเทศและมาตรการสนับสนุนภาครัฐที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ สร้างโอกาสและรายได้ให้กับกลุ่มธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ 1.ธุรกิจท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ห้องชุด เกสต์เฮาส์ ธุรกิจจัดนำเที่ยว ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา ธุรกิจตัวแทนการเดินทาง และ 2.ธุรกิจการจัดประชุม แสดงสินค้า คอนเสิร์ต เช่น ธุรกิจการจัดแสดงทางธุรกิจและสินค้า ธุรกิจการจัดประชุม ธุรกิจจัดงานเลี้ยง ธุรกิจกิจกรรมด้านความบันเทิง

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เพื่อการรักษารูปร่าง หน้าตา และการดูแลสุขภาพของบุคคล สำหรับกลุ่มที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ มีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจสุขภาพและความงาม เช่น ธุรกิจปลูกพืช เครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค ธุรกิจโรงพยาบาล คลินิกโรคเฉพาะทาง ธุรกิจขายปลีก/ส่งเภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ และ 2.ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจสถานที่ดูแลรักษาสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจบริการจัดหาที่พักให้ ธุรกิจสังคมสงเคราะห์โดยไม่มีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องรูปแบบการใช้ชีวิต

กลุ่มธุรกิจนี้ถือเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจที่น่าสนใจประกอบด้วย 1.ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยง ธุรกิจขายปลีกอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง ธุรกิจขายส่งอาหารสัตว์ และ 2.ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ เป็นกลุ่มธุรกิจตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ครอบคลุมทุกช่วงวัยของประชากรในสังคม มีมูลค่าทางการตลาดระดับสูง โดยมีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจบริการ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต และธุรกิจตลาดกลางในการซื้อขายออนไลน์ 2.ธุรกิจบริการชำระเงินแบบดิจิทัล ได้แก่ ธุรกิจการประมวลผลและการเรียกชำระเงินสำหรับธุรกรรมทางการเงิน เป็นธุรกิจให้บริการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์ และ 3.ธุรกิจซอฟต์แวร์ เช่น ธุรกิจจัดทำโปรแกรมเว็บเพจ ธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ธุรกิจให้คำปรึกษาทางด้านซอฟต์แวร์

ทั้งนี้ ปี 2566 ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและมาแรง 5 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งยอดตั้งธุรกิจใหม่ เพิ่มขึ้นถึง 64% ได้แก่ ธุรกิจจัดนำเที่ยว ตัวแทนธุรกิจการเดินทาง โรงแรม รีสอร์ต ห้องชุด สปา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

2.กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 36% ได้แก่ ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

3.กลุ่มธุรกิจสมุนไพร เพิ่มขึ้น 33% ได้แก่ การปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค พืชทางเภสัชภัณฑ์ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาโรค

4.กลุ่มธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 25% ได้แก่ ธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้า การผลิต ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 5.กลุ่มธุรกิจ e-Commerce หรือธุรกิจการค้าปลีกสินค้าออนไลน์ เพิ่มขึ้น 19%

นอกจากนี้ปี 2566 ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ลดลง 30% ได้แก่ ธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก การผลิต ปุ๋ยเคมีและการผลิตเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ขั้นมูลฐาน 2.กลุ่มธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้า หรือธุรกิจการค้าปลีกช่องทางออฟไลน์ ลดลง 12% 3.กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงสันดาป ลดลง 5% ได้แก่ ธุรกิจการขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในสถานี หรือสถานีบริการน้ำมัน การขายส่งเชื้อเพลิงแข็ง/เหลว และการทำเหมืองแร่ เหมืองแร่อโลหะและเหมืองหิน

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์จากหลายภาคส่วน เช่น จำนวน/อัตราการเติบโตของการจัดตั้ง อัตราการเลิก การเพิ่มปริมาณการลงทุนของธุรกิจ (จำนวนการเพิ่มทุนจดทะเบียน) และข้อมูลจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ แนวโน้มธุรกิจ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ ร่วมกับสถานการณ์ภาพรวมของประเทศ ดังนั้น ปี 2566 ธุรกิจดาวเด่นที่มาแรงส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศและของโลก โดยเฉพาะธุรกิจที่เคยประสบปัญหาช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลับมาฟื้นตัวจนมีความโดดเด่นอีกครั้ง

ขณะที่ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจะสอดคล้องกับกระแสธุรกิจรักษ์โลกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยมีผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล บริการรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงมูลค่าบริการและสินค้าที่มีอยู่ของอุตสาหกรรมเดิม ซึ่งในปี 2567 ธุรกิจเสี่ยงสู่ภาวะถดถอยยังเหมือนปี 2566 โดยหากดูตัวเลขยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ปี 66 คาดว่าทั้งปีจะเกินกว่า 80,000-90,000 ราย และคาดว่าจากแผนส่งเสริมในด้านต่างๆ ของรัฐบาลจะทำให้ยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ในปี 67 จะมียอดเกือบถึง 100,000 รายได้แน่นอน

นอกจากนี้กรมฯ ยังมีแผนการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ว่าในปี 2567 กรมมีแผนที่จะตรวจสอบธุรกิจที่มีแนวโน้มเข้าข่ายเป็นนอมินีตั้งแต่ขั้นตอนการจดทะเบียน โดยก่อนจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล จะตรวจสอบเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนด้วยตนเองได้ และเมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วยังจะกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องตามแผนงานโครงการตรวจสอบประจำปี ซึ่งในปี 2567 มีเป้าหมายตรวจสอบนิติบุคคลประมาณ 26,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต เป้าหมาย 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และกรุงเทพฯ โดยพิจารณาจากการถือหุ้นของคนต่างด้าว ตั้งแต่ 40% ขึ้นไป เป็นธุรกิจที่มีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจกระทำการ มีการกำหนดให้สิทธิคนต่างด้าวมากกว่าคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการออกเสียงลงคะแนน สิทธิการรับเงินปันผล รวมทั้งสิทธิการรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ

ทั้งนี้ ยังได้นำเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินแก่คนต่างด้าวโดยมีเงื่อนไขที่ผิดปกติในทางการค้าหรือทางธุรกิจการเงินทั่วไป มาประกอบการพิจารณา โดยในปี 2566 ได้ตรวจสอบนิติบุคคลที่มีความเสี่ยงรวม 15,000 ราย และเมื่อตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องตรวจสอบเชิงลึกประมาณ 400 ราย จึงได้ทำการตรวจสอบ จนพบพฤติกรรมน่าสงสัย และได้ส่งดำเนินคดีรวม 8 ราย ตามความผิดของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ส่วนรายอื่นๆ ที่ไม่ผิดกฎหมายที่กรมดูแลอยู่ แต่ผิดกฎหมายของหน่วยงานอื่น เช่น การตรวจคนเข้าเมือง หรือภาษี ได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายไปแล้ว

Advertisement