ด่วน!! ป.ป.ช.แถลงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ห่วง 4 เรื่อง แนะ 8 ข้อ

170

Business Highlight Online : 7 กุมภาพันธ์ 2567 ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ต่อโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เสี่ยงทุจริต-ผิดกฎหมาย-ไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ต้องหาทางป้องกัน-รอบคอบ ระบุ กกต.ควรตรวจสอบตรงตามที่หาเสียงหรือไม่ แนะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มประชาชน ที่มีฐานะยากจน หรือกลุ่มเปราะบาง-ใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้-จ่ายในรูปเงินบาทในอัตราที่เหมาะสม-กระจายจ่ายเป็นงวดๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตัง เพื่อลดความเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ขัด พ.ร.บ.เงินตรา และประการสําคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว!!

ป.ป.ช.แถลงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ มีความเสียงต่อการทุจริต และผิดกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ต้องหาทางป้องกันและพิจารณาให้รอบคอบ ระบุ เศรษฐกิจยังไม่ถึงขั้นวิกฤตแค่ชะลอตัว ควรช่วยแค่กลุ่มเปราะบาง และกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยืน พร้อมแนะ กกต.ควรตรวจสอบ ตรงตามที่เพื่อไทยหาเสียงไว้หรือไม่

วันนี้ (7 ก.พ.2567) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะ โฆษกสํานักงาน ป.ป.ช. แถลงต่อสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสําคัญกับการดําเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอํานาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ในการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการในการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือ ปราบปรามการทุจริต การกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ ในการยุติธรรม ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาว

ในการนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดําเนินการรับฟังความเห็น เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดําเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว โดยได้มีการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง จากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จากส่วนราชการและหน่วยงาน ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า มีประเด็นสําคัญที่ควรพิจารณา จํานวน 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

1.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ

2.ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือ การดําเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคํานึงถึงความคุ้มค่าและมีความจําเป็น ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจําเป็นต้องดําเนินนโยบาย ที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรมีการจัดลําดับความสําคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า

3.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย กล่าวคือ การดําเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะต้องตระหนักและใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อํานาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกําหนดนโยบายของพรรคการเมือง

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการประชุมครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 พิจารณาแล้ว มีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดําเนินการตามควรแก่กรณี ในการป้องกันมิให้เกิดการทุจริต หรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะฯ จํานวน 8 ข้อ ดังนี้

1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดําเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจน อย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพ มากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดําเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชน ที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากการดําเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และ พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดําเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานสําหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จําเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้

3.การดําเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรคํานึงถึงความคุ้มค่าและความจําเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) ซึ่งรัฐบาลจึงต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดี ผลเสียที่จะต้องกู้เงิน จํานวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาล และประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชําระหนี้จํานวนนี้เป็นระยะเวลา 4 – 5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

4.การดําเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 172) พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติ เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6) พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดําเนินโครงการ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

5.คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดําเนินโครงการ เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน โดยกําหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดําเนินโครงการ ซึ่งอาจพิจารณานําข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดําเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถดําเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง

6.ในการนําเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจําเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดําเนินโครงการ เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นการดําเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน

7.จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสําคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น ในกรณีที่รัฐบาลต้องดําเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

8.หากรัฐบาลมีความจําเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชน ที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดํารงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวดๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบ สามารถทําได้รวดเร็ว การดําเนินการกรณีนี้ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ประการสําคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

Advertisement