“พีระพันธุ์” ลงพื้นที่แหล่งเอราวัณ เร่งผลิตก๊าซตามเป้า

196

Business Highlight Online : 29 กุมภาพันธ์ 2567 วานนี้ (28 ก.พ.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน นำทีมผู้บริหารกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมของการผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการจี 1/61 ในอ่าวไทย มีแผนจะเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติในอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ภายในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านค่าไฟฟ้า และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

สืบเนื่องจากการที่ กระทรวงพลังงาน มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย โครงการจี 1/61 ณ วันที่ 1 เมษายน 2567 ให้อยู่ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซในประเทศซึ่งถือเป็นแหล่งจัดหาก๊าซที่มีต้นทุนต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับแหล่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซที่นำเข้าจากเมียนมา และก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าในรูปของ LNG โดยที่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการจี 1/61 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต ซึ่งบริษัทได้ทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่องอย่างเต็มความสามารถ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ โดยได้ติดตั้งแท่นหลุมผลิต 12 แท่น เจาะหลุมผลิตเพิ่มกว่า 300 หลุม วางท่อก๊าซธรรมชาติ รวมทั้ง เชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตและระบบต่าง ๆ เพื่อทำให้อัตราการผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นตามลำดับ และในปี 2567 นี้ ปตท.สผ. มีแผนจะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มอีก 7 แท่น และเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีกประมาณ 300 หลุม เพื่อเพิ่มและรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯ ของโครงการจี 1/61 ให้ได้ในอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต

“ในช่วงการตรวจเยี่ยม ผมได้พบเห็นความตั้งใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยได้มีการเพิ่มกำลังคนในการทำงานที่แท่นหลัก จากเดิม 200 นาย เป็น 320 นาย โดยเจ้าหน้าที่และผู้บริหารมีความขะมักเขม้นและตั้งใจในการทำงาน ทำให้ผมมีความมั่นใจว่าวันที่ 1 เมษายน 2567 กำลังการผลิตของแหล่งเอราวัณ จะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อย่างแน่นอน ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนก๊าซโดยรวมของประเทศถูกลง และส่งผลดีต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และได้สั่งการพร้อมเน้นย้ำให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานของ ปตท.สผ.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามแผน“ นายพีระพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ จากปัจจัยในเรื่องการเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ และราคา LNG ตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำลงเมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมของประเทศที่เข้าภาคไฟฟ้าลดลง และส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าของประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติประมาณ 50-60 % มีต้นทุนลดลง ซึ่งช่วยให้กระทรวงพลังงานสามารถรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้

Advertisement