YLG คาดทองไทยแตะ 45,000 บาท

40

Business Highlight Online : 4 เมษายน 2567 YLG คาดทองไทยมีโอกาสแตะ 45,000 บาท ธนาคารกลางทั่วโลกยังตุนทอง หวั่นเงินเฟ้อ ชี้ไทยนำเข้าทองคำอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีน และอินเดีย เผย 2 เดือนแรกปี 67 นำเข้าแล้วเกือบ 30 ตัน

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ย เพื่อต้องการให้เงินเฟ้อลดลง ทำให้ราคาทองคำค่อยๆ ดีดตัวขึ้นมา และทำจุดสูงสุดช่วงปลายปีที่ 2,144 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และย่อลงมา ส่วนต้นปีนี้ เปิดตลาดที่ 2,062 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และ Sideway ประมาณ 1-2 เดือน กระทั่งปลายเดือนมีนาคม ทองคำดีดตัวขึ้นจุดสูงสุดอีกครั้ง และยังปรับตัวขึ้นร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง โดย YLG มองเป้าหมายไว้ที่ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ภายในครึ่งปีแรก และถ้าหากผ่านไปได้มองว่าจะไปถึง 2,350 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์

ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ 96.5% เปิดตลาดเมื่อต้นปีที่ 33,550 บาทต่อบาททองคำ และปรับตัวขึ้นมาถึงบริเวณ 39,700 บาทต่อบาททองคำ ส่วนทองคำรูปพรรณ ราคาทะลุ 40,000 บาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ให้ไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่จะเห็นราคาแตะ 45,000 บาท

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำมาจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และตะวันออกกลาง เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ขณะที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศเข้าถือครองทองคำมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยจีนเป็นประเทศที่มีการทยอยลดการถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่อง 16 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ยังมีรัสเซีย ขณะที่สิงคโปร์ มีการถือครองทองคำเพิ่มขึ้น 33 ตัน ในปีที่ผ่านมา เมื่อย้อนดูสถิติ 10 ปีย้อนหลัง พบว่าธนาคารกลางแต่ละประเทศมีการถือครองทองคำมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2022 มีการซื้อทองคำมากถึง 1,000 ตัน และปี 2023 เข้ามาถือครองทองคำ 2,030 ตัน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าธนาคารกลางแต่ละประเทศลดบทบาทค่าเงินดอลลาร์ต่อการค้าและการลงทุนของประเทศตัวเอง (De-Dollarization) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ทั่วโลกมีกำลังการผลิตทองได้ประมาณ 3,000 ตัน สัดส่วนการถือครองทองคำทั่วโลกขณะนี้แบ่งเป็นธนาคารกลางทั่วโลก ประมาณ 1,000 ตัน จีน อีกเกือบ 1,000 ตัน และอินเดีย อีกเกือบ 1,000 ตัน ส่วนที่เหลือคือนักลงทุนรายย่อย ซึ่งจะมีตลาดรีไซเคิลที่มีการขายและวนกลับมาซื้อ ดังนั้น วงจรทองคำในแต่ละปี กำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 4,000 ตัน จะเห็นได้ว่ามีแต่การซื้อมากกว่าการขาย

ขณะที่ต้นทุนในการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ (Premium) ทอง 1 ออนซ์ มีค่า Premium อยู่ที่ 60 เซนต์ ซึ่งค่า Premium แต่ละประเทศไม่เท่ากัน ไทยอยู่ที่ 2 ดอลลาสหรัฐ จีนอยู่ที่ 10-30 ดอลลาร์สหรัฐ เวียดนาม 100 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอินเดีย คิดเป็น 14% ของปริมาณการซื้อขาย

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทองคำยังน่าสนใจ คือเมื่อราคาขยับขึ้นต่อเนื่องแล้วย่อตัวลงจะไม่ลงแรงเหมือนหุ้นหรือบิตคอยน์ โดยราคาจะลงไม่เกิน 10% และยังเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ tracking การซื้อขายได้ตอบโจทย์นักลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน หากจะขายสามารถทำได้เมื่อผ่านแนวตั้งแต่ละจุด และควรจะซื้อในปริมาณที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เนื่องจากมุมมองวายแอลจี มองราคาทองคำในปัจจุบันอยู่ในจุดที่สูงมากแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน

ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ราคาทองคำขึ้นมาแล้วประมาณ 10% ขณะที่เงินบาทขึ้นมา 7% หากซื้อทองต้นปี 33,550 บาท และขายในระดับที่ราคาทองทะลุ 40,000 บาท ได้กำไรไปแล้ว 17-18% การที่ทองคำทำลายสถิติราคาสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องจับตาใกล้ชิดถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อราคาทองคำ

อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองทองคำจำนวนมาก จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณของการเทขาย เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐยังล้นตลาด และคนไม่เชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์ แต่ที่เงินดอลลาร์ยังแข็งแกร่ง เนื่องจากยูโรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินยูโรอ่อนค่า ขณะที่จีนยังมีปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้เงินดอลลาร์ยังแข็งค่า และกระทบมายังเงินบาทไทยอ่อนค่าลง

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงมีการนำเข้าทองคำมากกว่าส่งออก โดย 2 เดือนแรกของปี 2567 พบว่านำเข้าทองคำ 29.347 ตัน เพิ่มขึ้น 17.43% ขณะที่ส่งออกทองคำ 18.84 ตัน ลดลง 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่สถิติ 10 ปีย้อนหลัง ไทยซื้อทองคำเฉลี่ยปีละ 63 ตัน เป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีน 1,000 ตัน และอินเดีย 900 ตัน ส่วนหนึ่งมองว่าคนไทยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองหลากหลาย

Advertisement