ด่วน!! หอการค้าไทยออกโรง คัดค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ

27

Business Highlight Online : 7 พฤษภาคม 2567 หอการค้าไทยและสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น คัดค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ยันจุดยืน เอกชนไม่ได้มีความพร้อมทุกราย

จากกรณีเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ซึ่งตรงกับวันแรงงานที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาทแบบถ้วนหน้าทั่วประเทศทุกอาชีพ ภายในวันที่ 1 ต.ค. 2567 นั้น

ล่าสุดเช้าวันนี้ (7 พ.ค.) นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้แถลงข่าวคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

นายพจน์ ได้อ่านแถลงการณ์คัดค้าน พร้อมกล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ 54 สมาคมการค้า ได้ส่งรายชื่อไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงดังกล่าวเพราะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนจนไม่เหลือผลกำไร และทางหอการค้าไทย จะนำรายชื่อสมาคมที่คัดค้านไปยื่นให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีร่วม 100 สมาคมการค้าที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง

ทั้งนี้ หอการค้าทั่วประเทศและสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ให้แรงงานแต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 การขึ้นค่าแรงควรคำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกครั้ง การปรับอัตราค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรมีการรับฟังความคิดเห็นและศึกษาความพร้อมของแต่ละจังหวัด

การปรับค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะบางจังหวัดจะขึ้นไปถึง 21% ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงถึงตามที่กฎหมายกำหนดจะทำให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการหรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานในที่สุด

นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับค่าจ้างครั้งนี้ คือ การกระชากด้วยนโยบายจากการหาเสียงไม่ได้ปรับขึ้นตามความจำเป็น โดยปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงแค่ 1.9% และเมื่อมองย้อนหลังไป 3 ปี เศรษฐกิจไทยเติบโตแค่ 6% ซึ่งจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า การปรับค่าจ้างแรงงาน ควรปรับตามกลไกและตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น การปรับครั้งนี้จะทำให้การจ้างงานไม่สดใส ผู้ประกอบการจะหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้นในอนาคต

Advertisement